ต่างประเทศ
‘ติ๊กต็อก’ ไม่หวั่นถูกแบนในสหรัฐฯ ซีอีโอลั่นสู้กันในศาล หลัง 'โจ ไบเดน' ลงนามสั่งขายกิจการ
โดย nattachat_c
25 เม.ย. 2567
60 views
'โจว ซื่อ ชู' ซีอีโอ 'ติ๊กต็อก' ชาวสิงคโปร์ กล่าวในวิดีโอทางติ๊กต็อกว่า ทางบริษัทคาดว่าจะชนะคดี จากกฎหมายที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เพิ่งลงนามในการสั่งแบนแอปพลิเคชันยอดนิยม ที่มีผู้ใช้ 170 ล้านคนในอเมริกา หาก บริษัท ไบต์แดนซ์ (Bytedance) เจ้าของ ติ๊กต็อก (TikTok) ไม่สามารถขายหุ้นทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือนถึง 1 ปี ต่อจากนี้
ทั้งนี้ โจ ไบเดน ได้ลงนามในผ่านร่างกฎหมาย ที่ให้เวลาติ๊กต็อก 270 วัน ในการขายกิจการในสหรัฐฯ หรือเสี่ยงถูกห้ามใช้ในอเมริกา หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ผ่านร่างกฎหมายไปก่อนหน้า
โดย โจว กล่าวว่า “เราจะไม่ไปไหน” และว่า “ความจริง และรัฐธรรมนูญ จะอยู่ข้างเรา และคาดว่า เราจะได้รับชัยชนะอีกครั้ง”
กฎหมายดังกล่าวได้ขีดเส้นตายให้ติ๊กต็อกขายกิจการในวันที่ 19 มกราคม ซึ่งเป็นเวลา 1 วัน ก่อนที่ไบเดนจะหมดวาระผู้นำสหรัฐฯ แต่ไบเดนอาจขยายเส้นตายดังกล่าวได้อีก 3 เดือน ถ้าหากเห็นว่าบริษัทไบต์แดนซ์มีความคืบหน้าในเรื่องการขายกิจการ
กฎหมายแบนติ๊กตอกนี้ ได้รับแรงขับเคลื่อนจากความกังวลในหมู่นักการเมืองอเมริกันว่า จีนอาจเข้าถึงข้อมูล หรือสอดแนมชาวอเมริกัน ผ่านแอปดังกล่าว โดยร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ และวุฒิสภาในค่ำวันอังคาร ก่อนส่งต่อให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายในวันพุธ
วุฒิสมาชิก มาร์โก รูบิโอ จากพรรครีพับลิกัน ในฐานะคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า “กฎหมายใหม่จะบังคับให้บริษัทจีนขายกิจการแอปพลิเคชั่นนี้ นี่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับอเมริกา”
ทางด้าน กระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกโรงตอบโต้ทันทีว่า “แม้ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยพบหลักฐานว่า ติ๊กต็อกเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ แต่สหรัฐฯ ไม่เคยหยุดที่จะติดตามติ๊กตอก”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันแผนการปิดกั้นการใช้แอปติ๊กต็อก และวีแชท ในสหรัฐฯ แต่ถูกศาลปัดตกไป
ขณะที่ ติ๊กตอก ยืนยันว่า ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกากับรัฐบาลจีน แต่คาดว่า ติ๊กต๊อก รวมถึงผู้ใช้ เตรียมเดินหน้าทางกฎหมาย ว่าด้วยผลกระทบต่อสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 (เฟิร์ส อาเมนด์เมนต์)
ทั้งนี้ นักการเมือง และกลุ่มนักเคลื่อนไหว มองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว อาจเปิดทางให้ทำเนียบขาวมีเครื่องมือใหม่ในการแบน หรือบังคับขายกิจการแอปพลิเคชั่น ของต่างชาติ ที่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงประเทศได้
ขณะที่ทางด้าน สหภาพเสรีภาพแห่งอเมริกัน (อเมริกัน ซิวิล ลิเบอร์ตี้ ยูเนียน) (American Civil Liberties Union) ระบุว่า การแบนหรือสั่งขายกิจการของติ๊กต็อก อาจ “สร้างแบบอย่างที่น่าตกใจถึงการใช้อำนาจควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ของรัฐบาลที่เกินจำเป็น...ถ้าหากสหรัฐฯ แบนแพลตฟอร์มต่างชาติได้ในวันนี้ ในวันหน้า ประเทศอื่นก็อาจจะลอกเลียนมาตรการแบบเดียวกันนี้ได้”
-------------