ต่างประเทศ
เปิดประวัติ 'กมลา แฮร์ริส' หญิงผู้ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีคนใหม่ หลัง 'โจ ไบเดน' ถอนตัว
โดย paweena_c
23 ก.ค. 2567
540 views
เปิดประวัติ 'กมลา แฮร์ริส' หลัง ‘โจ ไบเดน’ ถอนตัว เสนอชื่อขึ้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
หลังจากประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ แห่งสหรัฐอเมริกา ยืนกรานมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ว่า จะสู้ต่อและเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย ในที่สุดเขาก็ต้องถอนตัวจากการชิงตำแหน่งดังกล่าว ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ โควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมเสนอชื่อรองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ ขึ้นมาเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งแทน
'กมลา แฮร์ริส' เป็นใคร?
‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในดาวรุ่งของพรรคเดโมแครต โดยขึ้นสู่อำนาจหลังจากได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2017 ก่อนที่จะมุ่งเป้าไปที่การเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020 แต่การดีเบตนโยบายของเธอครั้งนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะและช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ แต่ ‘ไบเดน’ ก็เป็นผู้ที่ทำให้หญิงวัย 59 ปีผู้นี้กลับมาเป็นที่รู้จักในระดับประเทศอีกครั้ง ด้วยการลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตในการแข่งขันครั้งเดียวกัน
หลังจากที่ไบเดนและแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง เธอได้มุ่งเน้นไปที่โครงการสำคัญหลายประการและมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของรัฐบาลไบเดน รวมถึงการเปิดตัวทัวร์ "Fight for Reproductive Freedoms" ทั่วประเทศ การเน้นย้ำถึงอันตรายและผลกระทบจากการห้ามทำแท้ง และเรียกร้องให้รัฐสภาฟื้นฟูกฎหมาย Roe v Wade อีกครั้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิที่สามารถทำแท้งได้เหมือนกันทั่วประเทศ
'แฮร์ริส' เกิดเมื่อวัน 20 ตุลาคมปี 1964 ที่เมืองโอ็กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นบุตรของนายดอนัลด์ เจ. แฮร์ริส นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชาวอเมริกันเชื้อสายจาเมกา กับนางชยามาลา โกปาลัน นักชีวการแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย
ในฐานะบุตรสาวของผู้อพยพ เธอเติบโตมาท่ามกลางชุมชนที่หลากหลายและครอบครัวที่อบอุ่น เธอและมายา น้องสาว ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านมะเร็งเต้านม ที่ย้ายจากอินเดียมาสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 19 ปี และได้รับปริญญาเอกในปีเดียวกับที่ “กมลา แฮร์ริส” เกิด พ่อแม่ของเธอต่างก็มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง และ ปลูกฝังให้เธอต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของทุกคน เมื่อเธออายุได้ห้าขวบ พ่อแม่ของเธอหย่าร้างกัน หลังจากนั้นเธอก็ถูกเลี้ยงดูโดยแม่มาตลอด
กมลาเล่าว่า แม่ของเธอทำให้เธอและน้องสาว มายา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนคนผิวดำในโอ๊กแลนด์อย่างเต็มที่
"แม่ของฉันเข้าใจดีว่าเธอกำลังเลี้ยงดูเด็กหญิงผิวดำสองคน" เธอเขียนในอัตชีวประวัติของเธอชื่อ 'The Truths We Hold' (แปลเป็นภาษาไทยว่า "ความจริงที่เรายึดถือ") เธอบอกต่อว่า "เธอรู้ว่าประเทศที่เป็นบ้านหลังใหม่จะมองมายาและฉันว่าเป็นเด็กหญิงผิวดำ และเธอตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำให้แน่ใจว่าเราจะเติบโตเป็นผู้หญิงผิวดำที่มั่นใจและภูมิใจในตัวเอง"
แฮร์ริส สำเร็จการศึกษาจากจาก Howard University ที่นั่นเธอได้มีส่วนร่วมในประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ เช่น การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้และความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา และ จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ฮาสติงส์ (University of California, Hastings) เธอทำงานในสำนักงานอัยการเขตหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2010 และ ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016
'กมลา' ทำอะไรบ้างในฐานะรองประธานาธิบดี?
ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เธอยังดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาสหรัฐฯ และมีสิทธิลงคะแนนชี้ขาดเมื่อการลงคะแนนเสียงในร่างกฎหมายเสมอกัน เธอได้สร้างสถิติด้วยการใช้สิทธินี้ถึง 32 ครั้ง มากกว่ารองประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
โจ ไบเดนได้กล่าวถึงบทบาทของเธอในฐานะรองประธานาธิบดีว่า: "กมลาจะเป็นเสียงสุดท้ายในห้อง ท้าทายสมมติฐาน และถามคำถามที่ยาก"
เธอมีชื่อเสียงมากขึ้นจากการเดินทางไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา เพื่อผลักดันปกป้องการทำแท้งและสิทธิสำหรับผู้หญิงต่างๆ หลังจากที่ศาลสูงสุดได้ยกเลิกคำพิพากษาคดี Roe v Wade
อย่างไรก็ตาม คะแนนความนิยมของเธอในฐานะรองประธานาธิบดีนั้นต่ำตลอดระยะเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง โดยเฉลี่ยมีคนอเมริกันถึง 51% ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของเธอ และมีเพียง 37% เท่านั้นที่เห็นด้วย ตามการสำรวจความคิดเห็นของ FiveThirtyEight โดยสาเหตุที่เป็นไปได้อาจมาจากภารกิจหลักที่ประธานาธิบดีไบเดนมอบหมายให้เธอในฐานะรองประธานาธิบดีคือ การลดการอพยพข้ามพรมแดนทางใต้ของสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เธอล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อไบเดนลงจากผู้ท้าชิง และประกาศสนับสนุน ‘กมลา แฮร์ริส’ กระแสโจมตีแฮร์ริสก็พุ่งสูงทันที ในโลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยการกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับแฮร์ริส ถึงขั้นมีแฮชแท็ก “She's Indian” มาแรงในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยมีผู้ใช้บางคนกล่าวหาแฮร์ริสว่าเธอ “ไม่ใช่คนผิวดำ”.
ล่าสุด ‘กมลา แฮร์ริส’ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ที่ไวท์เฮาส์ครั้งแรก โดยเธอกล่าวชื่นชม ‘โจ ไบเดน’ และขอบคุณเขาที่ได้ให้โอกาสเธอ และเธอภูมิใจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง จากการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครต ในฐานะลูกสาวของแคลิฟอร์เนีย เธอภูมิใจที่คณะผู้แทนของรัฐบ้านเกิดนี้ช่วยทำให้การรณรงค์ของเธอเหนือกว่า และเธอคาดว่าจะยอมรับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้