ต่างประเทศ
อินโดฯ สั่งแบนการซื้อขายบน TikTok ปกป้องผู้ค้า แข่งขันอย่างเหมาะสม
โดย thichaphat_d
29 ก.ย. 2566
114 views
รัฐมนตรีกระทรวงการค้า กล่าวเมื่อวันพุธที่ 27 ก.ย. 2023 ว่า อินโดนีเซียสั่งห้ามการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการตอบโต้แอปวิดีโอสั้น TikTok ที่กำลังเติบโตเป็นสองเท่า ในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐบาลอินโดนีเซียได้กล่าวว่า การห้ามทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะมีผลทันที โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้ค้า และตลาดออฟไลน์ และเสริมว่า การกำหนดราคาที่เอาเปรียบบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กำลังคุกคามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเพียงสามเดือน หลังจากที่ TikTok ให้คำมั่นที่จะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อผลักดันการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TikTok Shop ครั้งใหญ่
โดย TikTok ซึ่งเป็นเจ้าของโดย ByteDance ของจีน มีผู้ใช้งาน 125 ล้านรายต่อเดือน ในอินโดนีเซีย และกำลังพยายามเปลี่ยนฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ ให้เป็นแหล่งรายได้อีคอมเมิร์ซที่สำคัญ
ด้าน โฆษก TikTok อินโดนีเซีย กล่าวว่า ทาง TikTok กังวลอย่างยิ่ง กับการประกาศ โดยเฉพาะ การที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น 6 ล้านคน ที่ทำงานบน TikTok Shop
ฮาซาน (Zulkifli Hasan) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กฎระเบียบดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่า จะเป็นการแข่งขันทางธุรกิจที่ “ยุติธรรมและเหมาะสม” พร้อมเสริมว่า กฎระเบียบดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ด้วย
และยังได้เตือนถึงการปล่อยให้โซเชียลมีเดีย กลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ร้านค้า และธนาคารไปพร้อม ๆ กัน
กฎระเบียบใหม่ยังกำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,700 บาท) สำหรับสินค้าบางรายการ ที่ซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่นำเสนอควรเป็นไปตามมาตรฐานท้องถิ่น
ฮาซาน กล่าวว่า TikTok มีเวลาหนึ่งสัปดาห์ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกปิด
ด้าน เจอร์รี่ (Jerry Sambuaga) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อต้นเดือนกันยายนว่า ฟีเจอร์สตรีมมิงสดของ TikTok เป็นตัวอย่างของการขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ บริษัทวิจัย BMI กล่าวว่า TikTok จะเป็นธุรกิจเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามการทำธุรกรรม และการเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียถูกครอบงำโดยบริษัทเทคโนโลยีพื้นบ้านอย่าง Tokopedia ของ GoTo, Shopee ของ Sea และ Lazada ของ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน
ส่วน ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียมีมูลค่าเกือบ 52 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 190,250,000,000) ในปีที่แล้ว และ 5% เกิดขึ้นบน TikTok ตามข้อมูลจากที่ปรึกษา Momentum Works
อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดไม่กี่แห่งที่ TikTok ได้เปิดตัว TikTok Shop เนื่องจากมีผู้ใช้เยอะมาก
โดยผู้ใช้งานรายเดือนจำนวน 125 ล้านคนในอินโดนีเซีย เกือบจะพอ ๆ กับตัวเลขผู้ใช้งานในยุโรป และตามหลังผู้ใช้สหรัฐฯที่มากกว่า 150 ล้านคน ซึ่ง TikTok ก็เปิดตัวบริการช้อปปิ้งออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้
ด้าน ฟาห์มี (Fahmi Ridho) ผู้ขายเสื้อผ้าบน TikTok กล่าวว่าแพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นช่องทางสำหรับร้านค้าในการฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด การขายไม่จำเป็นต้องผ่านร้านค้าที่มีหน้าร้านจริง คุณสามารถทำทางออนไลน์หรือที่ไหนก็ได้
ส่วน เอดรี (Edri) ซึ่งใช้ชื่อเพียงชื่อเดียว และขายเสื้อผ้าในตลาดขายส่งรายใหญ่ในกรุงจาการ์ตา เห็นด้วยกับกฎระเบียบดังกล่าว และย้ำว่า ควรมีข้อจำกัดในการขายทางออนไลน์
แท็กที่เกี่ยวข้อง อินโดนีเซีย ,tiktok ,อีคอมเมิร์ซ ,ซื้อขายสินค้า