ต่างประเทศ

เตรียมรับแรงกระแทก ‘สภาพอากาศเลวร้ายสุดขีด’ จะกลายเป็นเรื่องปกติของโลกใบนี้

โดย nattachat_c

31 ส.ค. 2565

51 views

เตรียมรับแรงกระแทก ‘สภาพอากาศเลวร้ายสุดขีด’ จะกลายเป็นเรื่องปกติของโลกใบนี้

อุทกภัยร้ายแรงในปากีสถาน คลื่นความร้อนทำลายสถิติในจีน ความแห้งแล้งที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ของแอฟริกา และอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงฝนตกอย่างหนักในประเทศไทย จนทำให้บางพื้นที่ ที่ไม่เคยน้ำท่วม ก็เกิดน้ำท่วม

ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์นี้ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) จะไม่ใช้เรื่องใหม่ แต่กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal)


ปากีสถาน : ผู้คนนับล้านได้รับผลกระทบ

เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน กล่าวว่า “คลื่นความร้อนที่ไม่หยุดนิ่ง ไฟป่า น้ำท่วมฉับพลัน ทะเลสาบน้ำแข็งหลายแห่ง เหตุการณ์น้ำท่วม และตอนนี้มรสุมปีศาจแห่งทศวรรษกำลังสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และจะส่งผลต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้”

ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ปากีสถานได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นวงกว้าง ที่เกิดจากฝนมรสุมตกหนัก ฤดูมรสุมที่เร็วกว่าปกติส่งผลกระทบต่อทั้งสี่จังหวัดของประเทศ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,000 คน และนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ในหลายส่วนของประเทศ ส่งผลให้สูญเสียทรัพย์สิน โครงสร้างพื้นฐาน และ การทำมาหากิน

รัฐบาลปากีสถาน เผยว่า ในเวลานี้ พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำอย่างสมบูรณ์แบบ

และประเมินว่า มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้น่าจะมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว  3.6 แสนล้านบาท) และอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการสร้างและฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่

แต่เชื่อหรือไม่ เห็นฝนตกกระหน่ำ น้ำท่วมครั้งใหญ่แบบนี้ ตอนเดือนมีนาคม พื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนที่สุดในรอบ 60 ปี โดยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ การเกษตร สุขภาพของมนุษย์และสัตว์

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) กล่าวว่า ความร้อนที่ไม่ปกติ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ผลผลิตพืชผลลดลง ทำให้หิมะและน้ำแข็งในพื้นที่ภูเขาของกิลกิต-บัลติสถาน และไคเบอร์ ปัคตุนกวา ละลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในทะเลสาบน้ำแข็งอย่างน้อย 1 แห่ง

อินเดีย : เพื่อนบ้านของปากีสถานก็โดนเล่นงานเช่นกัน

WMO ระบุว่า ประเทศอินเดียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสามารถบันทึกอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในเดือนมีนาคมเป็นประวัติการณ์ โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.1 องศาเซลเซียส

และยัง ตั้งข้อสังเกตว่า ความร้อนจัดนี้ มีโอกาสมากขึ้น 30 เท่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคลื่นความร้อนและความร้อนชื้นจะรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในศตวรรษนี้

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ไม่ได้จำกัดเฉพาะในเอเชียใต้ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนอื่นๆ ของโลก

เพตเตรี ทาลัส (Petteri Taalas) เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ในอนาคต คลื่นความร้อนเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติ เราจะเห็นสภาพอากาศสุดขั้วนั้นเลวร้ายขึ้น เพราะเราได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาก จนแนวโน้มเชิงลบจะดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษทั่วโลกได้ และหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นการปลุกให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เกิดการตื่นตัว

จีน : ประสบปัญหาคลื่นความร้อนทำลายสถิติ

ดร. เหวินเจียน จาง ผู้ช่วยเลขาธิการ WMO กล่าวว่า "สภาพอากาศและอุณหภูมิในจีนนั้นรุนแรงและซับซ้อน โดยมีอุณหภูมิและความแห้งแล้งที่รุนแรงในภาคใต้ และมีฝนตกชุกในภาคเหนือ สถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัยที่ซ้ำซ้อนกันนี้ ได้นำมาซึ่งความท้าทายในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และงานบรรเทาทุกข์ประชาชน”

จากข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน ภาคใต้กำลังประสบกับคลื่นความร้อนที่ยาวที่สุดและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกทั้งหมดในปี 2504 ทำลายสถิติปี 2556 ที่ 62 วัน

ในวันที่ 15 ส.ค. หอสังเกตการณ์อุตุนิยมวิทยาประมาณ 1,680 แห่งได้บันทึกอุณหภูมิที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ทั่วพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ WMO ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของจีน

จังหวัดและเมืองส่วนใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียงมีฝนน้อย โดยบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 80% ของปริมาณน้ำฝนปกติ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งปานกลางถึงรุนแรง ไฟฟ้าดับจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า

ตามข้อมูลจากกระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินของจีน ภัยแล้งเพียงอย่างเดียวส่งผลกระทบต่อประชาชน 5.527 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม และทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรง 2.73 พันล้านหยวน (395 ล้านดอลลาร์)

ขณะเดียวกัน พื้นที่ขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของจีน กลับพบฝนตกหนักผิดปกติ โดยเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในมณฑลเฮยหลงเจียงและณฑลเหลียวหนิง และในจังหวัดทางตะวันตกของณฑลเสฉวนและณฑลกานซู

จะงอยแอฟริกา : เกิดภัยแล้งอย่างหนัก

จะงอยแอฟริกา ฝนไม่ตกตามปกติมา 5 ปีติด ซึ่งทำให้วิกฤตในภูมิภาคที่เลวร้ายลงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคน

WMO ระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในเอธิโอเปีย เคนยา และโซมาเลีย คาดว่าจะได้รับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญจนถึงสิ้นปี ปริมาณน้ำฝนที่ขาดดุลมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังเอริเทรีย ยูกันดา และแทนซาเนียด้วย

ซึ่งโดยปกติ เดือนตุลาคมถึงธันวาคมจะมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 70% ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมดต่อปี ในส่วนเส้นศูนย์สูตรของจะงอยแอฟริกา โดยเฉพาะในเคนยาตะวันออก

ความแห้งแล้งเกิดขึ้นนานที่สุด ในรอบ 40 ปี และคาดว่าอุณหภูมิจะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วทั้งภูมิภาค อันเป็นผลมาจากภัยแล้งติดต่อกันทำให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรม และหน่วยงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการพัฒนา (IGAD) ในแอฟริกาตะวันออก ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงจำนวนผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลันในปีนี้  ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 50 ล้าน

ยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา : อากาศร้อนสุดๆ จุดเริ่มต้นไฟป่า

อัตสึชิ โกโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศของ WMO กล่าวว่า เมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วมจะเป็นเรื่องปกติในอนาคต

เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และข้อตกลงปารีส

สภาพอากาศสุดขั้ว ที่จะเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติของโลก รัฐบาลจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา การดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มความพร้อม และลดความเสี่ยงของผลกระทบด้านลบ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการสัมผัส วิธีปกป้องผู้คนจากความร้อนจัด การเตรียมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินจากความร้อน เพิ่มการเข้าถึงน้ำดื่มและพื้นที่ที่มีอากาศเย็น

สภาพอากาศสุดขั้ว สามารถส่งผลถึง ปัญหาด้านความปลอดภัย

นอกจากเหตุการณ์ทางสภาพอากาศแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอาจทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัยที่มีอยู่แย่ลงไปอีก และที่แย่ที่สุดคือ อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามใหม่ๆ ที่คาดเดาไม่ได้

ขณะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจน เมืองใหญ่ริมชายฝั่งในจีน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็ตกอยู่ในความเสี่ยง บางประเทศอาจเห็นว่าอาณาเขตของพวกเขาส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ในทศวรรษหน้า

มาริยา อาห์เหม็ด ดิดี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมัลดีฟส์ กล่าวว่า ในขณะที่โลกเข้าสู่สภาพอากาศที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ความขัดแย้งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น แพร่หลายมากขึ้น และนองเลือดมากขึ้น โดยมีหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ จากเขตความขัดแย้งทั่วโลกที่บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวขับเคลื่อนความรุนแรง

มัลดีฟส์ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีความกังวลเหล่านี้ อันที่จริง การสำรวจที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากสภาพอากาศทั่วโลก 57 คน เปิดเผยว่า พวกเขามีฉันทามติว่า ความเสี่ยงจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลก และจะรุนแรงขึ้นภายในสองทศวรรษข้างหน้า

คุณอาจสนใจ

Related News