ต่างประเทศ

COP28 ตั้งกองทุนช่วยประเทศยากจน รับมือผลกระทบโลกร้อน หลายชาติร่วมสมทบ กว่า 400 ล้านดอลลาร์

โดย nut_p

1 ธ.ค. 2566

102 views

บรรดาผู้นำจากทั่วโลกตบเท้าเข้าร่วมการประชุมด้านสภาพอากาศ COP28 วันที่ 2 ในนครดูไบ หลังจากเมื่อวานนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนเยียวยาประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ



เมื่อวานนี้เป็นวันแรกของการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ซึ่งที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนใหม่ เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,400 ล้านบาท) นับเป็นชัยชนะที่สำคัญของกลุ่มประเทศยากจน หลังพยายามผลักดันและเรียกร้องกันมานานเป็นระยะเวลาหลายปี



โดยสุลต่าน อาห์เมด อัล-จาเบอร์ ประธานการประชุม COP28 กล่าวว่า การตัดสินใจจัดตั้งกองทุนนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้กับทั่วโลก และงานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในดูไบตอนนี้



นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศออกมาประกาศสมทบให้กับกองทุนดังกล่าว เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศสมทบทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,500 ล้านบาท) เช่นเดียวกับ อังกฤษ สนับสนุน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,700 ล้านบาท), สหรัฐอเมริกา สนับสนุน 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 600 ล้านบาท), ญี่ปุ่น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 350 ล้านบาท), และสหภาพยุโรป 245.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8,600 ล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินของเยอรมนี 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,500 ล้านบาท)



ซึ่งหลายฝ่ายออกมาแสดงความยินดีกับความสำเร็จเบื้องต้นนี้ เช่น เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ที่ระบุในแถลงการณ์ว่ากองทุนดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ

ไปให้กับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางมากที่สุด



เช่นเดียวกับนายอาวินาช เพอร์โซด์ (Avinash Persaud) ผู้แทนพิเศษด้านสภาพอากาศจากประเทศบาร์เบโดส ที่กล่าวชื่นชมการจัดตั้งกองทุน แต่ก็เสริมว่าจำเป็นที่จะต้องมีเงินมากกว่านี้



ส่วนวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 130 คนเดินทางมาถึงที่ประชุมกันตั้งแต่เช้า และได้รับการต้อนรับจากนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ และสุลต่าน อัล-จาเบอร์ ประธานการประชุม ก่อนที่พวกเขาจะขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์และกล่าวสุนทรพจน์



เมื่อถึงเวลาเริ่มงาน ชีค โมฮัมเมด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ขึ้นเวทีกล่าวเปิดการประชุม พร้อมกับประกาศว่า ยูเออี จะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,050,000,000 บาท)สำหรับแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับเน้นย้ำว่า การขาดแคลนเงินทุนเป็นปัญหาที่ขัดขวางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก



อีกหนึ่งบุคคลสำคัญของโลกที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมวันนี้ คือ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร โดยตรัสว่า พระองค์ทรงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุม COP28 ในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ และทรงเตือนว่า แม้การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีความคืบหน้า แต่โลกยังอยู่ห่างจากเป้าหมายอย่างน่าสยดสยอง



พระองค์ยังทรงเรียกร้องให้ที่ประชุมดำเนินการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือประเทศที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ชีวิตของประชาชนกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสภาพอากาศ



ด้านเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ก็ขึ้นเวทีเรียกร้องให้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ เพราะตอนนี้ "ชีพจรของโลกกำลังล้มเหลว" ขณะที่การทำงานของทั่วโลกยังอยู่ห่างไกลมากจากเป้าหมายของความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ความตกลงปารีส ที่ต้องการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิด 1.5 องศาเซลเซียส



นอกจากนี้ เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นยังแสดงความคิดเห็นวิจารณ์อย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน, แก๊ส, และถ่านหิน ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศเจ้าภาพการประชุมด้วย เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ



สำหรับการประชุม COP28 ถูกจัดขึ้น เพื่อให้ทั่วโลกได้มีถกเถียงและหาทางออกให้กับปัญหาด้านสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน



ทว่า การประชุมในปีนี้ ไม่มี 2 ผู้นำชาติมหาอำนาจ ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดของโลก ถึง 44% เดินทางมาเข้าร่วม นั่นคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา



แต่ถึงกระนั้นผู้นำทั้งสอง ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม โดยสหรัฐฯ ส่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และจีน ส่งนายติง เสวี่ยเซียง (Ding Xuexiang) รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1

คุณอาจสนใจ

Related News