ต่างประเทศ

กองทัพเมียนมา - กะเหรี่ยง KNU ปะทะริมแม่น้ำสาละวินต่อเนื่อง ปชช.กว่าหมื่นรายไร้ที่อยู่อาศัย

โดย sujira_s

25 เม.ย. 2564

20 views

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่จับอาวุธสู้รบกับกองทัพพม่า มายาวนาน 73 ปีแล้ว การร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ NCA เมื่อปี 2558 เป็นความหวังหนึ่งที่จะเห็นสันติภาพ แต่การรัฐประหาร เมื่อ 1 กุมภาพันธุ์ 2558 โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำให้กระบวนการสันติภาพยุติลง และการโจมตีทางอากาศในพื้นที่กองพล 5 KNU กลายเป็นสงครามครั้งใหม่ ที่ส่งผลให้ประชาชนนับหมื่นคน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ ผู้นำทหาร KNU เชื่อมั่นว่า สันติภาพในเมียนมาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น


อาคารประจำการบริเวณทางเข้าฐานซิกอท่า ของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบกองทัพพม่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารเสียหาย บางหลังถูกไฟไหม้ และสะเก็ดระเบิดที่เป็นหลักฐานจากปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งผลให้ทหารกะเหรี่ยงเสียชีวิต 1 นาย นอกจากนี้อาคารอเนกประสงค์บริเวณฐานบัญชาการที่เคยใช้จัดพิธีสวนสนามในวันปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยงก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วย ซึ่งฐานแห่งนี้ ตั้งอยู่ติดริมน้ำสาละวิน ไม่ถึง 500 เมตร ถือเป็นปฏิบัติการโจมตีที่ใกล้ดินแดนไทยอย่างมาก


พลเอกบอจ่อแฮ รองผุ้บัญชาการทหารสุงสุด เคเอ็นยู ในวัย 60 ปี เป็นผู้นำปฏิบัติการเข้ายึดฐานปฏิบัติการทหารพม่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ยืนยันว่า ไม่ใช่การเปิดฉากโจมตี แต่เป็นการแสดงจุดยืนว่า KNU ไม่ยอมรับการรุกรานของทหารพม่า ที่เข้ามาตั้งฐานทหารกว่า 81 ฐานในพื้นที่กองพล 5 เพื่อหวังยึดดินแดนกะเหรี่ยง ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจกับการสูญเสียของพลเรือน


แต่ผู้นำทหาร เคเอ็นยู ยืนยันว่า ทหารและประชาชนกะเหรี่ยงยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ในการเรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตย ที่มีการตลอด 73 ปี ของนักปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยง และเป็นสิ่งที่ พลเอก บอจ่อแฮ ยืนยันว่า การสู้รบเพื่อล้มเผด็จการทหารพม่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีรัฐบาลใหม่เท่านั้น และเคเอ็นยู เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ NUG ด้วย เช่นเดียวกับพลจอหมื่อแฮ ผู้บัญชาการกองพลที่ 5 ซึ่งยังคงรักษาที่มั่นกองพล 5 โดยไม่ได้อพยพหนีไปไหน เขาเริ่มเป็นทหารตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงวันนี้อายุ 70 ปี ก็ยังจับอาวุธต่อสู้ เท่ากับช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ยาวนานถึง 73 ปีแล้ว เขาจึงคาดหวังว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายซึ่งอยากให้จบที่รุ่นเรา


ในขณะที่นายเทนเดอร์ ผู้ว่าการจังหวัดมือตรอ ก็ยังทำงานอย่างหนักอยู่ในเมืองเดปูโน่ว ท่ามกลางเสียงระเบิด ที่ยังมีโดรนบินทิ้งระเบิดของกองทัพพม่า บินอยู่ทุกที่ จนต้องหลบอยู่ในหลุมหลบภัยเป็นบางครั้ง แต่เขาก็ยังคงพยายามที่จะทำให้ประชาชนได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินเกิดอย่างปลอดภัย


ตลอดเวลาการสู้กว่า 73 ปี ของชาติกะเหรี่ยงในพื้นที่กองพล 5 ซึ่งติดริมแม่น้ำสาละวินชายแดนประเทศไทย พวกเขาผ่านการสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยาวนาน จากกองทัพพม่า แต่ก็มีความพยายามอย่างมากในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในแผ่นดินกะเหรี่ยง โดยการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ทั้งการร่วมกันปกป้องแม่น้ำสาละวินจากการส้างเขื่อน จนกลายเป็นแม่น้ำที่ไม่กี่สายในโลกที่ยังไหลอย่างอิสระ และยังร่วมกันจัดตั้งอุทยานสันติภาพสาละวิน หรือ Salween Peace Park พื้นที่อนุรักษ์ผืนป่าสาละวิน ทำให้ได้รับรางวัลระดับโลก equator price เมื่อปี 2563 จาก UNDP และ The Goldman Environment prize สร้างความภาคภูมิใจต่อการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง


การสู้รบครั้งนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อกว่า 300 ชุมชนในพื้นที่อุทยานสันติภาพสาละวิน ประชาชนกว่า 1 หมื่นคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในทันที พวกเขาจึงสมควรได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านและประชาคมโลก


ริมน้ำสาละวินยังมีเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเหตุปะทะระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยง โดยเฉพาะที่ฐานดา-กวิน ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง จึงเป็นสิ่งที่ไทยจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยของประชาชนไทยด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News