กรมพัฒน์ฯ ออก 6 มาตรการเข้ม สกัดจดทะเบียนบริษัทผี หลอกปชช.โอนเงิน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ DBD ออก6 มาตรการป้องกันบริษัทผีหลอกลวงประชาชน หลังพบมี ประชาชนถูกนำบ้านไปสวมรอยจดทะเบียนที่ตั้งบริษัท ทั้งการยกร่าง คำสั่งนายทะเบียนกลางเพื่อเรียกเอกสารเพิ่มเติม พร้อมจัดทำระบบตรวจเช็คสถานที่ตั้ง



นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวมาตรการป้องกันบริษัทผีหลอกลวงประชาชน



โดยทางกรม ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มอบหมายให้นายจิตรกร ว่างเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหัวหน้าทีม นอกจากนี้ยังได้วาง 6 มาตรการ ป้องกันนิติบุคคลผี



1.ยกร่างคำสั่งนายทะเบียนกลางเพื่อเรียกเอกสารเพิ่มเติม กรณีที่มาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งสำนักงาน เช่น สัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งนิติบุคคลจากเจ้าบ้าน จะเร่งเปิดประชาพิจารณ์คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป



2.จัดทำระบบการตรวจเช็กสถานที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคล เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเช็กได้ว่าบ้าน หรือที่อยู่ของตนมีการนำมาใช้เป็นที่ตั้งของนิติบุคคลหรือไม่ คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น



3.บูรณาการความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อตรวจสอบสถานที่ตั้งนิติบุคคลตามที่ผู้ขอจดทะเบียนได้แจ้งไว้ และปักหมุดพร้อมแสดงภาพถ่ายแผนที่ Google Map เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูลสามารถเช็กและเห็นภาพสถานที่ตั้งนิติบุคคลที่แจ้งจดทะเบียน



4.หากพบว่านิติบุคคลมีที่ตั้งไม่ตรงกับที่แจ้งจดทะเบียนจะดำเนินการป้องปรามภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กรมฯสามารถทำได้ ทั้งในส่วนการระบุหมายเหตุในหน้าหนังสือรับรองนิติบุคคลว่า “ไม่มีสถานที่ตั้งจริง” เพื่อเตือนผู้ที่จะทำธุรกิจด้วย และส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมาย



5.หากมีบุคคลที่อยู่ในรายชื่อบัญชี HR-03 มาขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล หรือแจ้งชื่อเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วน หรือกรรมการบริษัทจำกัด จะเรียกให้บุคคลดังกล่าวมาแสดงตนต่อหน้านายทะเบียน และส่งข้อมูลให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) เพื่อติดตามขยายผล หากไม่มาแสดงตนจะไม่รับจดทะเบียน



6.ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายซึ่งโทษการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าหนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



นอกจากนี้ ยังชี้แจงถึงการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล คือ จัดทำคำขอพร้อมเอกสารประกอบมายื่นต่อนายทะเบียน จากนั้นนายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้อง หากถูกต้องครบถ้วนก็รับจดทะเบียนฯ แต่หลักเกณฑ์การจดทะเบียนในปัจจุบัน “ไม่มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่ตั้งก่อนการรับจดทะเบียน”



และกฎหมายไม่ได้ห้ามที่หลายนิติบุคคลมีสถานที่ตั้งเดียวกัน



สำหรับการยื่นจดทะเบียนออนไลน์ ต้องมีการยืนยันตัวตนของกรรมการ และผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคล ผ่านระบบ e-KYC หรือ Thai ID



ส่วนของตรวจสอบสถานที่ตั้งที่ ทางกรมฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบวิเคราะห์พฤติกรรมนิติบุคคล หรือ Intelligence Business Analytic System (IBAS) ซึ่งจะใช้ดูว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยหรือไม่



ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเพียงแค่กรอกเลขที่บ้าน และรหัสประจำบ้าน ก็สามารถระบุที่ตั้งบริษัทได้เลยนั้น ต่อไปนี้อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะจำเป็นต้องใช้เอกสารอื่นเพิ่มเติม นี่จึงเป็นที่มาที่จะต้องมีการยกร่างคำสั่งนายทะเบียนกลางเพื่อเรียกเอกสารเพิ่มเติม



สำหรับการกำหนดลิมิตการจดทะเบียนบริษัท โดยใช้ที่อยู่เดียวกันเป็นจำนวนมากๆนั้น ขณะนี้ทางกรมรับทราบแล้วว่ามิจฉาชีพใช้รูปแบบนี้จัดตั้งบริษัท ซึ่งมองว่ามาตรการที่ได้แถลงไปจะช่วยป้องปรามได้ ทั้ง การประสานกับไปรษณีย์ไทย ในการนำเอาไปรษณีย์ไทยมาปักหมุด ทำ Google Maps เพื่อให้เห็นภาพที่ตั้ง และการพัฒนาระบบ IBas เป็นต้น



ส่วนบริษัทที่มีการจดทะเบียนไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้มอบให้ทีมเฉพาะกิจไปดำเนินการเข้าไปตรวจสอบดูข้อมูลว่าปัจจุบันมีบริษัทที่ใช้ที่อยู่หลายบริษัทและมาไล่ดู และอาจจะมีการประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ



ทั้งนี้ นางอรมน ระบุถึงกรณีที่ Pages drama addicted มีการระบุว่า มีบริษัทหลายแห่งที่ใช้ที่อยู่เดียวกันนั้น ต้องขอเข้าไปตรวจสอบก่อน พร้อมอธิบายว่า มีบางกรณีที่มีสำนักงานบัญชี หรือสำนักงานกฎหมาย ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ที่ต้องการจัดตั้งบริษัท แล้วใช้ที่อยู่ของเขา เป็นที่อยู่ของบริษัทเพื่อความสะดวกในการส่งเอกสาร ในการติดต่อบริษัท แต่หากพบว่าเป็นที่ตั้งที่น่าสงสัยก็จะมีการประสานร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการส่งต่อข้อมูล



กรณีที่เปิดบริษัทโดยมีชื่อต่างด้าวมาเป็นกรรมการ ถ้ามาตามขั้นตอนที่ถูกต้องก็สามารถดำเนินการได้ เพราะก็ไม่ได้กีดกันการลงทุนจากต่างชาติ แต่หากมาแบบผิดกฎหมายหรือใช้ชื่อคนไทยแฝงอำพรางหรือนอมินี่นั้น ก็จะมีการตรวจสอบ และมีการติดตามผลของการดำเนินคดีหรือเอาผิดกับนิติกรรมอำพราง หรือนอมินี ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทบจะทุกเดือน



เมื่อสอบถามว่า แต่ละเดือนมีนิติบุคคลม้า หรือนอมินีมากน้อยแค่ไหนนั้น ทางอธิบดีระบุว่า เรามีตัวเลขเรื่องของนอมินี ตัวเลขตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 ถึง 4 ธันวาคม 2567 ที่ได้จากการรวบรวมจากตำรวจ ปปง. กรมที่ดิน กรมการท่องเที่ยว และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเอง มีอยู่ 747 ราย ที่เข้าข่ายเป็นนอมินี่ส์และได้ถูกดำเนินการตามกฏหมาย มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,000 ล้านบาท



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/jcWyBd5nOBI

โดย panwilai_c

30 ม.ค. 2568

75 views

EP อื่นๆ