แม่ “แบงค์ เลสเตอร์” ลั่นน้องเป็นคนปกติ จ่อเอาผิดถึงที่สุด ด้าน “วราวุธ” เดือดแกล้งผู้พิการ ยันแบงค์ถือบัตรคนพิการ
นางวนิดา สังข์ฤทธิ์ แม่ของนายธนาคาร คันธี หรือ แบงค์ เลสเตอร์ เผยว่า ตนนั้นไม่ทราบว่าลูกชายตัวเองทำงานเกี่ยวกับอะไร ถ้ารู้ก็คงไม่ปล่อยให้ไปทำคอนเทนที่ถูกใช้ความรุนแรงและพิเรนแบบนั้น
ที่ผ่านมา ตนไม่ได้ดูแลลูกและคุณยาย เพราะเลิกกับสามี ไปมีอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือ หมารับใช้มาหลายปี ถึงแม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านร่วมกับลูกและคุณยาย ก็รับผิดชอบส่งเงินให้ที่บ้านใช้เดือนละ 1,500 บาท ประจำ และไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ว่าลูกชายที่เป็นเน็ตไอดอลมีแม่ทำอาชีพนี้ กลัวลูกจะเสียหน้าหรือโดนบูลลี่
เมื่อช่วงโควิดระบาด ลูกมาบอกไม่มีเงิน ตนก็ให้เงินไป 30,000 บาท เพราะลูกมาขอความช่วยเหลือ สังคมหรือในโซเชียลจะหาว่าตนไม่เคยดูแลก็ไม่ถูก ตนกับลูกรักกันมาตลอด วันแม่น้องแบงค์จะก้มกราบแม่ที่เท้า ตนยังไม่ให้กราบ เพราะแม่ต่ำต้อย แต่ลูกไม่ถือและบอกรักตนตามประสาแม่ลูก ทุกวันนี้ไป ๆ มา ๆ เข้าไปหาลูก พร้อมกับบอกรักและย้ำเตือนอย่าหาไปกินเหล้าที่ไหน น้องแบงค์ก็เชื่อฟังทุกอย่าง
ส่วนเรื่องก่อนหน้านี้ที่ตนบอกว่า จะไม่เอาเรื่องคนที่พาลูกไปดื่มเหล้าจนเสียชีวิตนั้น เป็นเพราะตนยังไม่เห็นคลิปวีดิโอหรือคอนเทนต่างๆ ที่พวกนั้นทำกับลูก ตอนนี้ทราบแล้ว จะขอดำเนินการเอาผิดทุกอย่างที่มาทำกับลูกของตน พร้อมพูดว่า “ให้ลูกของมึงถูกเผาบ้างสิ ใครจะไปยอม” ตนรับไม่ได้ที่ลูกถูกกระทำต่างๆ นาๆ เพื่อแลกกับเงิน
ส่วนประเด็นที่น้องแบงค์เป็นเด็กพิเศษนั้น ตนขอยืนยันว่า น้องเป็นคนปกติ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และสามารถไปทำงานข้างนอกได้เหมือนคนทั่วไป
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแบงค์ เลสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ดังเสียชีวิต ว่า เบื้องต้นต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณยายของแบงค์ เลสเตอร์ ที่สูญเสียหลานรักไป ตนเองได้ให้ พม. โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่ากรณีของแบงค์ เลสเตอร์ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง พม. อย่างไร
ในเบื้องต้นได้ตรวจสอบเบื้องต้นว่าแบงค์มีบัตรคนพิการ อยู่กับกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นผู้พิการทางสมองแต่กำเนิด ในประเด็นเบี้ยผู้สูงอายุและที่พักอาศัย ต่างๆและในส่วนคุณยายขณะนี้ ให้กระทรวง พม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดูว่ามีด้านใดบ้างที่กระทรวง พม. สามารถสนับสนุนได้เพิ่มเติม อาทิ เบี้ยผู้สูงอายุ การปรับปรับปรุงที่พักอาศัย หรือสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
“ผมอยากให้กรณีของแบงค์ เลสเตอร์ เป็นกรณีสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่กรณีนี้คนเดียว แต่เชื่อว่ามีอีกหลายต่อหลายคน ที่พิการด้านสติปัญญา คล้ายๆ กันแบบนี้แล้วถูกใช้เป็นเหยื่อ ต้องใช้คำว่าเป็นเหยื่อของคนบางกลุ่ม หรือคนบางคนที่หวังหาประโยชน์ หวังหารายได้ผลประโยชน์ส่วนตัว จากความพิการของคนอื่น ขอวอนสังคมว่า ในช่วงปัจจุบันนี้ การทำคอนเทนต์มีรายได้เป็นกระแสที่สำคัญ ใครก็อยากทำคอนเทนต์ แต่ขอความกรุณาว่า อย่าเอาความพิการมาหากินแบบนี้” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า การหากินแบบอื่นโดยใช้ความพิการมีอีกเยอะเช่น ผู้ที่มีความสามารถอย่างอื่น ทาง พม.ได้สนับสนุนเรื่องการมีบัตรผู้มีความสามารถ จะแสดงดนตรี หรือมีความสามารถพิเศษใดๆ สามารถมาทดสอบได้ที่กระทรวง พม. เพื่อขอมีบัตรผู้มีความสามารถได้ ดังนั้นการไปเอาเปรียบคนที่พิการด้านสติปัญญาแบบนี้ โดยให้ทำอะไรแปลกๆ หรือเห็นเขาเป็นเหยื่อของความสนุกสนาน ขอให้เลิกพฤติกรรมเหล่านี้ เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว ไม่ได้เป็นคอนเทนต์ในโลกโซเชียล ขอให้หยุด เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ควรจะได้รับการสนับสนุน และที่สำคัญหากคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดยถูกวิธีแล้วเขาจะเป็นกำลังที่สำคัญของสังคมอีกมาก
“ใครที่หาประโยชน์จากคนพิการแบบนี้ คุณนั่นแหละคือคนพิการของสังคม คุณเป็นคนที่ทำให้สังคมไทยกำลังพิการ คุณกำลังเป็นตัวถ่วงของสังคม ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้ ผมได้มอบแนวทางกระทรวง พม. ไปดูว่าในมิติของกระทรวง พม. สามารถฟ้องร้องเอาผิดอย่างไรได้หรือไม่ ถ้าทำได้ผมทำอย่างเต็มที่ เพราะการกระทำเช่นนี้ ไม่มีใครรับได้ ขอให้เห็นใจคนพิการ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง อย่าทำตัวเป็นภาระของสังคม คนพิการเขาไม่ใช่ภาระของสังคม แต่ในทางกลับกันคนที่ไปทำเช่นนี้ คุณนั่นแหละคือภาระของสังคม และตัวถ่วงทำให้สังคมไทยนั้นไม่สามารถก้าวเดินไปข้างหน้า” นายวราวุธ กล่าว
โดย paranee_s