จับตา! ศาล รธน.ตัดสิน คดี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี พ้น สส.หรือไม่ “อดีตตุลาการ” ชี้ ข้อกฎหมายมีความก้ำกึ่ง

วันพรุ่งนี้ จับตาคดีสำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย คดีคุณสมบัติ ความเป็น สส. ของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าจะพ้นจาก สส. กรณี ถือหุ้น ไอทีวี หรือไม่ตามกำหนดการพรุ่งนี้ 24 ม.ค. เวลา  09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจาของตุลาการแต่ละท่าน ก่อนลงมติ และทำคำวินิจฉัยกลาง ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย เวลา 14.00น.


คดีนี้คุณพิธา ถูกร้อง เนื่องจากถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการมรดก หลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิต มีจำนวน 42,000 หุ้น แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้าม ผู้สมัคร สส. เป็นเจ้าของกิจการ หรือ ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆทำให้เป็นคำถามว่า ตกลงแล้ว ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือเปล่า ยังประกอบกิจการหรือไม่


ศ.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวการเมือง ช่อง 3 มองแนวทางการวินิจฉัญคดีครั้งนี้ ว่า เรื่องนี้มีความก้ำกึ่งในทางกฎหมาย เชื่อว่า ที่สุดแล้วศาลจะไม่มีมติเอกฉันท์ไปทางใดทางหนึ่ง เพราะทุกประเด็นมีทั้งทางรอด และไม่รอด ขึ้นอยู่กับศาลตีความ


การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงก่อนว่า

1. ไอทีวี ยังเป็นสื่อ อยู่ หรือไม่?

2. ไอทีวี เลิกกิจการแล้ว หรือไม่?

3. คุณพิธา ได้ประโยชน์จากการถือหุ้น หรือไม่?   ถือให้ฐานะผู้จัดการมรดกเท่านั้น หรือ ถือใน 2สถานะ คือทั้งผู้จัดการมรดก และ ในฐานะทายาทที่ได้รับ มรดก


เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้ว ศาลจะมาพิจารณาที่ข้อกฎหมาย  ซึ่ง อ.จรัญ บอกว่ามีความก้ำกึ่งทางกฎหมาย นักกฎหมายก็มองเป็น สองทาง ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความอย่างไร จะตีความตามตัวอักษร หรือ ตีความตามเจตนารมณ์  ถ้าตีความตามตัวอักษร การห้ามผู้สมัคร สส. ถือหุ้นสื่อ ก็ไม่ได้จำกัดจำนวนเอาไว้ ความเห็นที่สุดโต่ง อาจมองว่า หุ้น สองหุ้น ก็ถือว่าผิดแล้ว แต่ถ้าตีความตามเจตนารมณ์ ศาลก็ต้องดูที่ จำนวนหุ้นของคุณพิธาว่า สร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง หรือไม่


“ จำนวนหุ้นที่ถือเนี่ยมีจำนวนน้อยมากไม่ส่งผลกระทบการดำเนินกิจการของสื่อนั้นจึงไม่ได้ทำให้ได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น  แต่ในทางข้อกฎหมายมีความเห็นเป็นสองทาง ก้ำกึ่งกันอยู่ถ้าถือหุ้นในกิจการสื่อ ความเห็นสุดโต่งแม้แต่หุ้นสองหุ้นก็ผิดแล้ว แต่อีกแนวความคิดหนึ่งเห็นว่าการใช้กฎหมายก็ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ ซึ่งเจตนารมณ์ในการห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อไปสมัคร สส. ก็เพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้สมัครคนอื่น ถ้ามองกฎหมายแบบนี้จำนวนหุ้นจึงมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ต้องมาดูอีกว่าจำนวนหุ้นแค่ไหนถึงจะมีอิทธิพลครอบงบกิจการสื่อ” ศ.จรัญ กล่าว


คอลัมน์ใต้เตียงการเมือง  By ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

โดย panisa_p

23 ม.ค. 2567

203 views