รองนายกฯดอน เยือนตุรกี ชื่นชมบทบาทผสานรอยร้าว รัสเซีย –ยูเครน ตั้งเป้าเพิ่มการค้า ไทย –ตุรกี ถึง 2 พันล้านดอลลาร์

ที่กรุงอังการา ประเทศตุรกี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบกับ นายฟวต อ็อกไต รองประธานาธิบดีตุรกี โอกาสเดินทางเยือนประเทศตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย – ตุรกี ครั้งที่ 4   โดยทั้ง 2ฝ่าย หารือถึงการยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ภายในปี 2571 และการผลักดันความตกลงการค้าเสรี ไทย-ตุรกี เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเป็นสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในภูมิภาค  โดยเฉพาะตุรกี เป็นประเทศที่มีบทบาทไกล่เกลี่ยเพื่อยุติปัญหาสถานการณ์ในยูเครน




โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยชื่นชม และหวังว่าความพยายามยุติปัญหาสงครามยูเครน ของตุรกีจะประสบความสำเร็จเพราะรับรู้ถึงความตั้งใจของผู้นำตุรกีที่ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งฝ่ายได้ก็ได้รับการสอบถามจากตุรกีถึงมุมมอง และแนวคิดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อคิดเห็นไปซึ่งตุรกีก็ค่อนข้างพอใจกับวิธีคิดของไทยและมองไปถึงจุดที่อาจจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและร่วมมือระหว่างกันในโอกาสต่อไปของปัญหานี้



ไทย และ ตุรกี ยังได้ลงนามในแผนปฏิบัติการร่วม ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2023-2028 ขยายความร่วมมือจากฉบับที่ 1 สานต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับตุรกี โดยเน้นย้ำความร่วมมือเดิม เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา การทหาร และขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ คมนาคม การเกษตกรโดยมีรายละเอียด  8 ด้าน



1.เศรษฐกิจ อาทิ 1)ทั้งสองฝ่ายพร้อมเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับตุรกี 2)ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนคณะนักธุรกิจและการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และสัมมนาทางธุรกิจ 3)ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการเงิน เช่น EXIM Bank และกองทุนรวมระหว่างทั้งสองประเทศ 4)ร่วมมือด้านการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานทั้งสองประเทศ 5)สำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการร่วมกัน ในสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร บริการก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณี พลังงาน และการท่องเที่ยว



2.การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม อาทิ 1)ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/อาหาร/กีฬา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยว MICE 2)สานต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแลกเปลี่ยนศิลปิน เยาวชน นักเรียน นักวิชาการและตัวแทนสื่อมวลชน และวัฒนธรรมของไทยและตุรกีในประเทศของแต่ละฝ่าย รวมถึงแสวงหาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทยและตุรกีร่วมกัน



3.การศึกษา วิชาการ และการพัฒนา อาทิ 1)สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาทั้งของไทยและตุรกีศึกษาต่อในด้านวิชาชีพและในระดับอุดมศึกษาในสถาบันการศึกษาของแต่ละฝ่าย 2)ส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพและการแบ่งปันประสบการณ์ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและเห็นพ้องร่วมกัน อาทิ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน



4.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล อาทิ 1)แลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรม 4.0 2)ส่งเสริมการเข้าร่วม "เทศกาลการบิน อวกาศ และเทคโนโลยี TEKNOFEST" ที่จัดขึ้น ณ ตุรกี ซึ่งเป็นเทศกาลการบินและอวกาศประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก



5.กลาโหมและความมั่นคง อาทิ 1)สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการขายระหว่างกันของบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันของทั้งสองประเทศ 2)จัดตั้งกลไกหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue) 3)กระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยข่าวกรอง เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ



6.การคมนาคม อาทิ 1)เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการคมนาคม เช่น การขนส่งทางทะเล การบริการต่อเรือซ่อมเรือ โทรคมนาคม 2)ทบทวนสถานะของเที่ยวบินในปัจจุบันระหว่างไทยและตุรกี เช่น จำนวนเที่ยวบิน จุดหมายปลายทาง และความถี่ของเที่ยวบิน 3)สนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเข้าร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่



7.การเกษตร 1)สนับสนุนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ อาทิ แนวปฏิบัติด้านเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2)ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและกิจกรรมแบ่งปันข้อมูลในสาขาการวิจัยแหล่งดินและน้ำ การใช้เครื่องจักรการเกษตร และการวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ



8.พหุภาคี อาทิ 1)ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้กรอบ UN  2)เสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ ยาเสพติด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การปลอมแปลงเอกสาร การฟอกเงิน 3)ส่งเสริมความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างอาเซียนและตุรกี ในฐานะคู่เจรจาเฉพาะสาขาของอาเซียน



ขณะที่การประชุมคณะกรรมการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 ซึ่งเว้นว่างมานานถึง 20ปี  นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธานร่วมกับ นายมุสตาฟา วารังก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี  เป็นการรื้อฟื้นกลไกการหารือระดับสูง พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ขับเคลื่อนและกำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเผชิญความท้าท้ายร่วมกันจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งผลักดันผลประโยชน์ของไทย ได้แก่ การเร่งรัดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะเชิญชวนฝ่ายตุรกีลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแสวงหาความร่วมมือที่มีศักยภาพในอนาคต อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานทดแทน BCG ตลอดจนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ



ไทย และ ตุรกี ได้ร่วม ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กับกรมความร่วมมือและประสานงานของตุรกี (TİKA) เพื่อขยายบทบาทความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศและการพัฒนาในรูปแบบไตรภาคี  

โดยนายวารังก์ กล่าวว่า ไทยถือเป็นผู้เล่นหลักที่มีความสำคัญในเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศที่ตุรกีพุ่งเป้าหมายในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ เราเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างตุรกีและไทยเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งถือว่ามีความหมายมากแต่เชื่อว่ายังไม่เพียงพอ เพราะยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือกันต่อไปได้อีก โดยทั้งสองฝ่ายต่างสนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าทางการค้าและขยายความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการจัดทำความตกลงเอฟทีเอที่หวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในปีนี้ และการประชุม JETC จะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถส่งเสริมความร่วมมือในหลากหลายด้าน กระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดมากขึ้น



สำหรับภาพรวมการเดินทางเยือนตุรกี ครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบในเชิงกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ ในทุกเรื่องราวส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสองประเทศมีความรู้ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน การหารือเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ได้มีการหารือกับภาคเอกชนของตุรกี การหารือครอบคลุมหมดในทุกเรื่องราว ทั้งเศรษฐกิจ การค้า ลงทุน อาหาร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ  ซึ่งตุรกีมีชื่อเสียงด้านนี้และ เป็นประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีไปได้รวดเร็วมาก และเป็นประเทศที่ทุ่มเทในเรื่องการวิจัยและพัฒนา สิ่งหนึ่งที่ตุรกีอยากเห็นคือการลดการเสียดุลทางการค้าที่มีอยู่กับประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการค้าขายกันก็ย่อมมีการได้ดุลเสียดุล แต่ก็ได้แนะนำหากมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทยผลิตผลที่เกิด จะมีตลาดที่กว้างขวาง เนื่องจาก FTA ที่ไทยมีกับหลายประเทศ รวมทั้ง RCEP ซึ่งเป็นตลาดกว้างใหญ่  และที่เรากำลังเจรจากับหลายๆประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป  ส่วนการรับรู้ในระดับประชาชนก็มีมากขึ้น ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะทางตุรกี ที่มาประเทศไทย  ไม่ผิดไปจากปรากฎการณ์ที่หลายประเทศเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทย

ขณะที่ การประชุม JETC ที่เกิดขึ้นในรอบ 20ปีครั้งนี้ เป็นการห่างหายเฉพาะในมุมของการประชุมระดับสูงเท่านั้น แต่ในมุมของการติดต่อระดับประจำก็ยังดำเนินต่อเรื่อยมา ซึ่งการประชุมนี้เป็นเพียงกลไกของการทำงานร่วมกันที่หยุดชะงักไป แต่ก็สามารถชดเชยจากแผนปฏิบัติการที่มีการลงนามกันและครอบคลุม ไปอีก 5ปี นับจากนี้



คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง



โดย parichat_p

5 ก.พ. 2566

70 views