แนวทางรับมือ “พืชกัญชา”สู่สังคมปลอดภัย

จากปัญหาข้อกังขาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยภายหลังมีการปลดล็อก พืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ออกจากยาเสพติด  ทำให้มีการนำพืชทั้ง 3 ชนิดนี้มาใช้กันอย่างเสรี ทั้งด้านอาหาร ด้านสันทนาการ โดยปราศจากการควบคุมที่ชัดเจนจนอาจลืมไป ว่าจุดตั้งต้นของการปลดล็อกครั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ





นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำถึงนโยบายที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขผลักดันมาตลอด คือการนำกัญชา กัญชง มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้กัญชากัญชงในทางที่ไม่เหมาะสม  


สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนประกอบของกัญชากัญชงและสารสกัด CBD เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและตำรับยาไทย มากถึง 1,181 รายการ โดยผลการวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2564 คาดว่าในปี 2569 ตลาดกัญชงจะเจริญเติบโตและมีมูลค่ามากถึง 15,000 ล้านบาท และอาจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่านี้


เนื่องด้วยมีการประเมินมูลค่าตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17 โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้ถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ เพื่อร่วมกันสื่อสารทำความเข้าใจการใช้กัญชากัญชงที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย


อย่างไรก็ตามข้อมูล จาก รายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางรับมือเพื่อให้สังคมปรับตัวเข้าสู่ยุคกัญชาเสรีอย่างปลอดภัย 5 ประการด้วยกัน  นั่นก็คือ


1.การให้มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ one-stop service ในการขออนุญาตปลูก และศูนย์นี้ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนโดยตรง ส่งเสริมด้านอาชีพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

2.เปลี่ยนบทบาทหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปราบปราม ให้มาสร้างความเข้าใจในด้านข้อกฎหมายให้ประชาชนรับทราบถึงข้อปฏิบัติต่างๆเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่การดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

3.กระทรวงศึกษาธิการควรเพิ่มหลักสูตรการให้ความรู้ในวิชาด้านสุขศึกษา เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงโทษและพิษภัยของ พืช ทั้ง 3 ชนิด เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายและกระทบต่อสุขภาพ

4.การเพิ่มบทบาทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจดิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการปราบปรามข่าวปลอม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เกี่ยวกับการใช้พืช ทั้ง 3 ชนิด

5.ภาครัฐควรเพิ่มบทบาทในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแขนงต่างๆสร้างกระบวนการรับรู้ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาอย่างถูกต้อง


ข้อมูลจากรายงานยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันภาครัฐมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกัญชามากมาย ทั้งการส่งเสริม การให้ความรู้ การปราบปราม รวมถึงการออกใบอนุญาต  เช่น สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย ,สถาบันกัญชาทางการแพทย์,คณะกรรมการอาหารและยา,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด,คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด,กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด  


ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีบทบาทที่ค่อนข้างทับซ้อนกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชน รวมทั้งในปัจจุบันมีข้อมูลทางด้านกัญชาที่หลากหลาย  ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ตลอดจนความเห็นทางกฎหมายที่มีความซับซ้อน กระทบต่อการรับรู้ของประชาชน และเป็นอุปสรรค ในการส่งเสริมการเพาะปลูกกัญชาในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งในการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ


คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

โดย parichat_p

2 ส.ค. 2565

70 views