'โลกร้อน' ทำอุณหภูมิเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 องศา - 'คลื่นความร้อน' จากรอบ 100 ปี เหลือ 5 ปี

รอยเตอร์ส รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศได้เปิดเผยผลการศึกษา พบว่า ความร้อนในหลายพื้นที่ของเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมผสานเข้ากับระดับความชื้นสูง ได้ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่เหล่านี้ ร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก


นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า คลื่นความร้อนที่เกิดจากความชื้นนี้ ซึ่งเรียกว่า ฮิวมิด ฮีทเวฟ (Humid Heatwaves) ซึ่งตามปกติจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง ในรอบ 100 ปี แต่ทว่า ขณะนี้คาดว่ามันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น คาดว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี ทั้งในอินเดีย และบังกลาเทศ ขณะที่ความร้อนในไทย และลาว ก็เห็นได้ชัดว่าร้อนขึ้นจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ


ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่ของบังกลาเทศนั้น พบว่าร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี ส่วนในไทยก็ทำสถิติที่ 45 องศาเซลเซียส และลาว 42 องศา  ส่วนในอินเดีย ที่รัฐฮุตราประเทศ อุณหภูมิก็พุ่งขึ้นไปที่ 44 องศาเซลเซียส ส่วนที่รัฐปัญจาบก็พุ่งขึ้นไปที่ 42 องศาเซลเซียสแล้ว


ผลการศึกษา ระบุว่า ความร้อนในบางพื้นที่นั้น เมื่อประกอบเข้ากับความชื้นสะสม ยังทำให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นสู่ระดับอันตรายอย่างสุดขั้ว โดยดัชนีความร้อนได้พุ่งไปที่ระดับ 54 องศาทีเดียว

โดย nattachat_c

22 พ.ค. 2566

166 views

EP อื่นๆ