เลือก(สัก)ตั้ง Ep 55 : พรุ่งนี้เลือกตั้ง เช็กเลยก่อนเข้าคูหาต้องทำอย่างไร
พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันเลือกตั้ง มาทบทวนและเตรียมความพร้อมว่าเมื่อไปถึงต้องทำอะไรบ้าง
พรุ่งนี้แล้วกับวันสำคัญในการชี้ชะตาประเทศไทย ‘การเลือกตั้งทั่วไป’ ปี 2566 ทุกคนพร้อมกันหรือยัง กับการ “เข้าคูหาไปใช้สิทธ์เลือกตั้ง” ถ้าใครยังสงสัยว่าต้องทำยังไง ต้องรู้อะไรบ้าง หรือห้ามทำอะไรบ้าง วันนี้เรามาทบทวนกันอีกครั้งค่ะ
ก่อนอื่น เราต้องตรวจสอบรายชื่อ และลำดับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของเราก่อน ว่าเราลำดับที่เท่าไหร่ ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ไหน หรือถ้ารู้สถานที่เลือกตั้งแล้ว ก็สามารถไปเช็กสิทธิได้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือสามารถเช็คผ่านเว็บไซต์ของกรมการปกครองได้
แต่แนะนำว่าให้เช็คข้อมูลไว้ตั้งแต่เนิน ๆ ก่อนวันเลือกตั้งเลยยิ่งดี เพราะต้องระวังว่า ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งคนจะเยอะ และอาจทำให้เสียเวลาได้ หรือถ้ารอเช็คผ่านเว็บไซต์ในวันเลือกตั้งจริงเลย ก็อาจจะเกิดเว็บล่มได้เช่นกัน
ต่อมาสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมและขาดไม่ได้คือ บัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงตน หรือเป็นบัตรที่หน่วยงานรัฐออกให้ เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต จะใช้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ถ้าเป็นรูปถ่ายบัตร หรือรูปแคปหน้าจอมา อันนี้ใช้ไม่ได้
ทีนี้ เมื่อเราไปถึงสถานที่เลือกตั้งแล้ว ก็ยื่นบัตรประชาชนให้กับกรรมการประจำคูหาเพื่อแสดงตน แล้วก็ลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อ แล้วเราก็จะได้รับบัตรเลือกตั้งมา 2 ใบ ตรงนี้เราต้องเซ็นชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตร ทั้ง 2 ใบด้วย และกรรมการประจำที่เลือกตั้ง ก็ต้องลงชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
ย้ำอีกครั้งเรื่องบัตรเลือกตั้ง
- บัตรสีม่วง เลือก ส.ส.เขต คือ ส.ส.คนที่ลงสมัครในเขตพื้นที่เลือกตั้งของเรา
ดูให้ดีเพราะ บัตรใบนี้มีแค่หมายเลขผู้สมัคร และช่องสำหรับกาเท่านั้น ไม่ได้บอกรายละเอียดผู้สมัคร ดังนั้นต้องจำหมายเลข ส.ส.เขตเราให้ดีด้วย อย่าจำสับสนกับส.ส.เขตพื้นที่ใกล้เคียง
- ส่วนบัตรสีเขียว เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ เลือกกาหมายเลขพรรคการเมืองที่เราชอบ
บัตรใบนี้จะมีสัญลักษณ์ หรือโลโก้พรรคการเมือง และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งหมายเลขพรรคการเมืองจะเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ จำเบอร์พรรคให้ดี เพราะบางพรรคก็มีโลโก้ที่คล้ายกัน บ้างก็ชื่อคล้ายกันก็มี
เมื่อได้บัตรมาทั้ง 2 ใบแล้ว ก็เข้าคูหาลงคะแนน ทําเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทําเครื่องหมายบนบัตรเลือกตั้ง ย้ำว่าต้องเป็นเครื่องหมาย ‘กากบาท’ เท่านั้น ถ้าทำเป็นสัญลักษณ์อื่นเช่น วงกลม, หัวใจ, ติ๊กถูก แบบนี้ก็จะถือเป็นบัตรเสีย ซึ่งบัตรเลือกตั้งแต่ละใบ สามารถกาได้เพียงหมายเลขเดียวเท่านั้น
แต่ถ้าใครไม่ต้องการเลือกผู้สมัครคนไหน หรือบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดเลย ก็ให้ทําเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’
เมื่อเราลงคะแนนเสร็จแล้ว ก็พับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบให้เรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้าย คือการ หย่อนบัตรเลือกตั้ง ลงในหีบบัตรแต่ละประเภท ให้ถูกต้องด้วยตนเอง
ขั้นตอนง่าย ๆ เพียงแค่นี้ เราก็เสร็จสิ้นภารกิจในการลงคะแนนเสียงใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งของเราแล้ว
แต่!! ก็มีข้อควรระวัง ในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาเตือนกันสักเล็กน้อย ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง “ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง” หรือ “ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่เราลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นดูเด็ดขาด” “ห้ามถามเบอร์เพื่อนข้าง ๆ” แล้วก็ “ห้ามนำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง” ด้วย
อีกเรื่องที่สำคัญ ที่อาจจะละเลยไป คือการแต่งตัว “ห้ามใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายที่มีโลโก้พรรคการเมือง หรือเห็นโลโก้พรรคบนร่างกาย ไปเลือกตั้งเด็ดขาด” เพราะผิดกฎหมายการเลือกตั้ง
ความจริงคือห้ามใส่ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ของวันก่อนเลือกตั้ง 1 วันเลย เพราะถือเป็นการหาเสียงเกินเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืน เสี่ยงจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อห้าม-ข้อพึ่งระวัง ในการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้งอื่น ๆ อีก สามารถเช็คได้ในเว็บไซต์ของ กกต. หรือย้อนกลับไปดูใน “เลือก(สัก)ตั้ง” อีพีก่อนหน้านี้ได้ เพราะมีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง66 ครั้งนี้ ให้คุณผู้ชมได้เลือกชมกัน
สุดท้ายนี้ อย่าลืมไปเข้าคูหา กา ส.ส.คนที่รัก กาพรรคการเมืองที่ชอบ วันที่ 14 พ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. เสียงของทุกคนมีค่า อย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะ ๆ
โดย paweena_c
2 มิ.ย. 2566
12 views