เลือก(สัก)ตั้ง Ep 54 : ย้อนรอย กกต.สารพัดปัญหาเลือกตั้ง
กรรมการถือเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขัน จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกรรมการถูกจับผิดไม่แพ้กับผู้แข่งขัน แถมงานนี้ กกต. ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก
ใกล้เลือกตั้งแล้ว แต่สารพันปัญหาจากการทำงานของกกต. ในการจัดการเลือกตั้ง 2566 ก็มีมาให้เห็นเรื่อย ๆ ทำประชาชนเกิดคำถามในศักยภาพ รวมถึงความโปรงใสในการจัดการเลือกตั้ง
ล่าสุดมีภาพ “ตู้บัตรเลือกตั้ง” ที่มีเทปกระดาษกาวปิดผนึกไว้ พร้อมลงชื่อเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับ ซึ่งจากข้อมูล เป็นภาพการเตรียมความพร้อม การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา
ภาพดังกล่าวมีการพูดถึงจำนวนมากถึงความ “แน่นหนา” ของระบบรักษาความปลอดภัยในการเก็บบัตรเลือกตั้ง แม้จะเก็บในห้องที่มีการรักษาความปลอดภัย แต่คนก็มองว่า แค่ลอกเทปกระดาษออกแล้วแปะใหม่ แบบนี้ก็สามารถทำได้ ง่ายต่อการทุจริต รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่า “นี่หรอการทำงานของ กกต. ทั้งที่ได้งบไปมากมายถึง 5.9 พันล้านบาท”
ไม่ใช่แค่ในกรณีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาจากการทำงานของ กกต. ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เรามาย้อนรอยการทำงาน กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง66 ไปด้วยกัน
ประเด็นเรื่อง “เขตเลือกตั้ง”
- ตั้งแต่เรื่อง การคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งมีเสียงคัดค้าน การนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับด้วย ว่าอาจจะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่
ตอนแรก กกต.ก็ยืนยันคำนวณตามเดิม แต่สุดท้าย ก็ต้องเปลี่ยนตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ และได้ออกประกาศใหม่ ทำให้บางจังหวัดมีจำนวนส.ส.ลดลง ขณะที่บางจังหวัดก็มีจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้น
การแบ่งแขตเลือกตั้ง มีผู้สมัคร ส.ส. ยืนฟ้อง กกต. ว่า “มีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” สร้างความสับสนให้ประชาชน บ้างมองว่า มีผลต่อคะแนนเสียง ส.ส. ในพื้นที่ ขณะที่ กกต. ก็ยืนยันในหลักการ และสุดท้าย ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าประกาศ กกต. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่ม
- ในวันสุดท้ายของการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง เว็บไซต์ลงทะเบียนเกิดล่ม ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ทำให้ประชาชนบางส่วนลงทะเบียนไม่ทัน แม้ว่าทาง กกต. ออกมาขอโทษประชาชนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้
ซึ่งในขณะที่เกิดประเด็นดังกล่าวนี้เอง ก็มี กกต. บางส่วน อยู่ในช่วงดูงานต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการรับผิดชอบต่อปัญหาและการทำหน้าที่
ต่อมาเป็นเรื่องของ “บัตรเลือกตั้ง”
- มีการพิมพ์บัตรเกินมา มากถึง 7 ล้านใบ เกิดคำถามว่า พิมพ์บัตรเลือกตั้งสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เพราะบัตรที่เหลือเยอะขนาดนี้ อาจทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ เรื่องดังกล่าว กกต. ก็บอกว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ” เพราะที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ทุกครั้ง
- ประเด็นบัตรเลือกตั้งยังไม่จบ เพราะการเลือกตั้ง ปี 66 ครั้งนี้ มีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่กกต. กลับใช้ “บัตรโหล” คือบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่มีเพียงเบอร์ของผู้สมัคร ไม่บอกรายละเอียดอื่น ๆ ทำให้คนมองว่า การใช้บัตรโหล อาจจะทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ เพราะเป็นการเลือกบัตร 2 ใบ ที่มีหมายเลขต่างกัน ขณะที่ กกต. ก็ให้เหตุผลว่า ใช้บัตรโหล เพราะช่วย “ประหยัดงบประมาณ”
ช่วงหลังมานี้อีกปัญหาที่เห็นคือ เรื่องข้อมูลของเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร
- ทั้งเรื่อง การพิมพ์ประกาศรายชื่อพรรคการเมือง ที่พบว่า โลโก้ของพรรคก้าวไกลมีสีหมึกที่ซีดจาง โดยกกต.ให้เหตุผลว่า เพราะโลโก้ มีพื้นฐานค่าสีอ่อน เวลาปรินต์ขาว-ดำ เลยทำให้ภาพซีดจางลง
- อีกทั้งพบว่า บางพื้นที่มีการติดเอกสารของผู้สมัครรายอื่น ทับผู้สมัครของพรรคก้าวไกล โดยเกิดขึ้นทั้งที่ จ.บุรีรัมย์ และ จ.เชียงใหม่
- ต่างประเทศก็เกิดปัญหา เช่นกัน โดยเกิดข้อผิดพลาดกับเอกสารแนะนำผู้สมัคร เช่น ภาพผู้สมัคร ส.ส. สลับกัน, พิมพ์ชื่อพรรคการเมืองผิด จาก “พรรคไทยสร้างไทย” เป็น “ไทยสร้างชาติ”, ข้อผิดพลาดจากการจัดหน้า เช่น กรณีผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ที่มีชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่เหนือภาพของเขา ซึ่งอาจสร้างคาวมสับสนให้กับประชาชนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ และอีกหลากหลายปัญหาที่มีการพูดถึง
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ครั้งนี้ กกต. ไม่รายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์
- กกต. มีการยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันรายงานผลอย่างไม่ทางการออก หลังจากก่อนหน้านี้ ใช้ในการเลือกตั้งปี 62 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการกรอกคะแนน” แต่จะยังสามารถทราบผลการการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ แต่อาจต้องรอเวลาหน่อย ยืนยันว่าทราบผลในคืนวันเลือกตั้งแน่
ส่วนระบบการรายงานผลคะแนนครั้งนี้ กกต. ใช้แบบ “อีซีที รีพอร์ต” (ECT Report) ขั้นตอนคือ หลังจาก กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) นับคะแนนแล้ว และติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะกรอกข้อมูล ผลการนับคะแนนลงระบบ ECT Report เป็นการรายงานผลต่อสื่อมวลชนที่เชื่อมต่อกับระบบดังกล่าว แล้วให้ประชาชนติดตามผลการนับคะแนนผ่านสื่อมวลชนอีกครั้ง
ขณะที่นักวิชาการและภาคประชาสังคม ต่างก็พากันเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งกันเข้ม ถึงขนาดที่มีการเปิดรับอาสาสมัคร รายงานผลคะแนนเลือกตั้ง จับตาความโปร่งใสโดยประชาชน
โดย paweena_c
2 มิ.ย. 2566
7 views