'มาริษ' เล็งดึง 'สหรัฐฯ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น' แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งซ้ำซาก พร้อมเตรียมแผนรับมือระยะสั้น-ยาว

วันที่ 21 ก.ย. 67 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง : Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อริ่เริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน




ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุดว่า ได้มีการพูดคุยถึงแผนระยะสั้น และระยะยาวในการแก้ปัญหาแม่น้ำโขง ทั้งจากภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้งร่วมกัน



โดยแผนระยะสั้นนั้น นายมาริษ เปิดเผยว่า จะอยู่บนพื้นฐานการวางระบบเตือนภัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สืบเนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และแม้แต่ละประเทศ จะมีความแตกต่างทางสภาพแวดล้อมและการพัฒนา แต่ก็จะต้องมั่นใจได้ว่า แผนการเตือนภัยนั้น จะต้องสอดรับกับทั้งประเทศไทย เมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ



ซึ่งใช้กลไกลองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กรที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สถาบันแม่โขง หรือ Mekong Institute ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น และเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการพูดคุยถึงบทบาทเท่าใดนัก ทั้งที่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับองค์กร Mekong River Commission หรือ MRC ซึ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และจัดการแม่น้ำโขง โดยประเทศไทย จะรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกได้ประโยชน์ร่วมกัน



นายมาริษ ยังเปิดเผยแผนในระยะยาวว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะรีบจัดการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง โดยใช้กลไกที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) ที่ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ริเริ่ม และเป็นประสานงานอยู่แล่ว มาใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบทบาท และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกในประเทศไทยทั้ง 4 ประเทศ ที่มาร่วมประชุมด้วยก็เห็นพ้องด้วย ซึ่งนอกจาก จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวแล้ว ยังจะต้องแก้ไขปัญหาน้ำแล้งด้วย โดยจะเรียกประชุมร่วมกันให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน



นอกจากกลไก และองค์กรทั้ง สถาบันแม่โขง, MRC และแอ็กเม็กส์ แล้ว นายมาริษ ยังเปิดเผยว่า ยังมีกลไกความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง: Mekong-Lancang Cooperation หรือ MLC ซึ่งมีประเทศจีนเป็นสมาชิกด้วย และยังมีกรอบความร่วมมือ แม่โขง- สหรัฐฯ, แม่โขง-ญี่ปุ่น และแม่โขง-เกาหลีใต้ มาใช้ เพื่อรับช่วงต่อในการนำเอาองค์ความรู้ของสถาบันแม่โขง และ MRC มาบูรณาการร่วมกันในการจัดการแม่น้ำโขง เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจในการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ และจะนำไปสู่อีกจุดหนึ่ง ที่ประเทศเหล่านี้ สามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศแม่น้ำโขงในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคตในระยะยาวด้วย หรือหากยังต้องการองค์ความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมจากกลไกความร่วมมือเหล่านี้ ประเทศไทย ก็พร้อมประสานกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการป้องกันระบบน้ำท่วม มาสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการครั้งนี้ด้วย



นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า ภายหลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศ ACMECS (แอ็กเม็กส์) เสร็จสิ้น ตนเองได้มีโอกาส โทรศัพท์พูดคุยกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหา และการจัดการอุทกภัย และสถานการณ์แม่น้ำโขง ซึ่งทั้งไทย และ สปป.ลาว ต่างมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งฝ่าย สปป.ลาว ได้ตอบรับ และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในระดับทวิภาคี และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และในระยะสั้น สปป.ลาวพร้อมที่จะขยายการติดตั้งโทรมาตรวัดน้ำไปยังลำน้ำสาขา พร้อมซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม ในระยะยาวนั้น ฝ่าย สปป.ลาว พร้อมที่จะประสาน และบูรณาการข้อมูลกับฝ่ายไทย เพื่อให้เกิดระบบการเตือนฉุกเฉินในภาพใหญ่ด้วย ดังนั้น จึงมั่นใจว่า ความร่วมมือในระดับทวิภาคีนี้ จะเป็นตัวเสริมให้ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้แข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย



นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้ตนเอง จะหารือกับผู้นำของเวียดนาม และกัมพูชาต่อไปด้วย ซึ่งในการพูดคุยดังกล่าวที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแล้ ตนเองยังได้ นำเสนอเรื่องอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาพรมแดนร่วมกันด้วย ทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด, การค้ามนุษย์, แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ และฝุ่น PM2.5 เป็นต้น

โดย chawalwit_m

21 ก.ย. 2567

458 views

EP อื่นๆ