29 ส.ค. 2567
‘อนุดิษฐ์’ ชี้ ข้อเสนอผู้ผลิต F-16 ดูดี แนะ ทอ.เลือกนโยบายชดเชย Offset Policy ที่ทำสำเร็จ-จับต้องได้
วันนี้ (24 ก.ค.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “EP 1: F-16 Block 70/72(USA) VS JAS 39 Gripen E/F (Sweden)” ซึ่งสาระสำคัญเป็นการติดตามการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนฝูงบินเก่าที่กำลังจะปลดประจำการในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทของ ทอ.
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุตอนหนึ่งว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการป้องกันประเทศด้วยกำลังทางอากาศ ผมจึงไม่ใช่ "เด็กที่ไม่รู้ความ" เพราะในชีวิตนักบินรบ 17 ปี ของผม เติบโตมาตามเส้นทางหลักของสายยุทธการ ตั้งแต่ศิษย์การบินจนถึงผู้บังคับฝูงบิน เหมือนกับท่านผู้บัญชาการทหารอากาศหลายท่าน และผมก็ผ่านการฝึกบินทางยุทธวิธีทั้งในและต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์และความเข้าใจในเรื่องการใช้กำลังทางอากาศเป็นอย่างดี
“เมื่อทราบว่ากองทัพอากาศกำลังของบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ และมีตัวเลือกคือเครื่องบิน F-16 Block 70/72 ของสหรัฐอเมริกา กับเครื่องบิน JAS 39 Gripen E/F ของสวีเดน ผมจึงอยากแสดงความเห็นและข้อมูลของผมในวันที่ผมไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหัวโขนทางการเมือง ไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากงบประมาณแผ่นดิน ที่ ทอ.ต้องจ่ายออกไปจากการซื้อเครื่องบินในครั้งนี้” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ได้หยิบยกข้อเท็จจริง 3 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 ไม่ว่ากองทัพอากาศจะซื้อเครื่องบินรุ่นไหนก็ตาม เงินเกือบ 2 หมื่นล้านนี้จะซื้อได้ไม่เกิน 4 เครื่อง เพราะฉะนั้น หากซื้อจำนวน 12 เครื่อง เรากำลังพูดถึงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และถ้าขยับไปที่ 16 เครื่อง เรากำลังพูดถึงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าภายใต้เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยเอื้อกับประเทศไทยสักเท่าไร งบประมาณแผ่นดิน 6-8 หมื่นล้านนี้ เป็นเงินภาษีจำนวนมหาศาล ที่ต้องถูกใช้อย่างชาญฉลาด และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของประเทศในทุกมิติ
ประเด็นที่ 2 ผมชอบเครื่องบินทั้ง 2 แบบ ดังนั้นใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ และคิดว่าผมจะเลือกเชียร์ยี่ห้อไหนเป็นพิเศษ จะได้ไม่ต้องอ่านต่อ เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายไม่ว่า ทอ.จะเลือกซื้อเครื่องบินรุ่นไหน ก็น่าจะตอบโจทย์ทางยุทธการได้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งเครื่องทั้ง 2 แบบ ยังเป็นเครื่องบินที่มีประจำการใน ทอ.อยู่แล้วทั้งคู่ แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ความจำเป็นทางด้านยุทธการ ก็คือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจให้ได้ว่า ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสวีเดน ใครให้ประโยชน์กับประเทศไทยได้มากที่สุดต่างหาก
“การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆใน พ.ศ.นี้ แตกต่างจากในอดีต ที่อาจจะคำนึงถึงเฉพาะมิติด้านประสิทธิภาพ และความมั่นคงของประเทศ หรือความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นสำคัญ แต่มาวันนี้การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งผลตอบแทนที่จะมาสู่ภาครัฐ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ควบคู่กันไปด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
และประเด็นที่ 3 น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุถึง นโยบายชดเชย (Offset Policy) ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ว่าคือ นโยบายที่ประเทศผู้ซื้อยุทโธปกรณ์ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์ตามปกติ เพื่อให้ผู้ขายต้องชดเชยผลประโยชน์ตอบแทนกลับมายังประเทศผู้ซื้อผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะต้องมีมูลค่าเป็นสัดส่วนขั้นต่ำตามที่รัฐบาลผู้ซื้อกำหนดในสัญญา
โดยนโยบายชดเชย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การชดเชยโดยตรง (Direct Offset) คือ การชดเชยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าในสัญญานั้น ๆ เช่น การเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดสายการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วน การผลิตร่วมกัน หรือการผลิตตามใบอนุญาตการอนุญาตขายสิทธิบัตรหรือใบอนุญาต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
และ 2. การชดเชยโดยอ้อม (Indirect Offset) คือ การชดเชยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริมด้านอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษา การวิจัยร่วมกัน การให้งบประมาณช่วยเหลือด้านการศึกษา การอบรม การดูงาน การฝึกการใช้งาน และการซ่อมบำรุง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การชดเชยทั้ง 2 แบบไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด และในการทำสัญญาหนึ่งอาจมีการชดเชยทั้ง 2 ประเภทอยู่ในสัญญาได้
ล่าสุดผมเห็นข่าวว่า ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-16 แถลงข่าวพร้อมมอบข้อเสนอชดเชยทางเศรษฐกิจ (Offset / a robust industrial participation proposal) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเครื่องบินรบ เช่น การช่วยยกระดับ Datalink ให้กับไทยเพิ่มเติม และการพัฒนาศูนย์วิจัยและอบรมแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินรบ ตลอดจนโอกาสในการให้ไทยเป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วน (Supply Chain) ให้กับ Lockheed Martin เมื่ออ่านข้อเสนอทั้ง 7 ข้อแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับไทยแน่นอน แต่ก็ยังมีหลายข้อที่ลอยๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งจะนำมาอธิบายให้ฟังใน EP ต่อๆไป แต่ที่สำคัญก็คือคงต้องรอฟังข้อเสนอของ Saab ผู้ผลิคเครื่องบินขับไล่ Gripen ด้วย ว่าจะเสนอนโยบายชดเชยมากันอย่างไรบ้าง
“เพราะที่ผ่านมาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของทุกเหล่าทัพ เคยมี นโยบายชดเชย Offset Policy ที่ทำสำเร็จ จับต้องได้ และนโยบายออฟเซตทิพย์ ที่แหกตาคนอนุมัติมาแล้ว ผมจึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจมาติดตามเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมๆกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ ขอให้คอยติดตาม EP.2 ไปด้วยกันนะครับ“ น.อ.อนุดิษฐ์ ทิ้งท้าย
โดย olan_l
24 ก.ค. 2567
24 views
EP อื่นๆ
29 ส.ค. 2567
อีสานหนี้ครัวเรือนพุ่ง สัดส่วน 60.8% สูงสุดในไทย 'อำนาจเจริญ' หนี้สูงอันดับหนึ่ง
paweena_c
29 ส.ค. 2567
‘วิรัช’ ซัดพวกทิ้ง ‘บิ๊กป้อม’ ไม่สำนึกบุญคุณ เอาเงินลุงกินเหล้า เมาแล้วกลับมาเตะลุง
chutikan_o
29 ส.ค. 2567
29 ส.ค. 2567
29 ส.ค. 2567
29 ส.ค. 2567
29 ส.ค. 2567
29 ส.ค. 2567
ยูทูบเบอร์ด้านการบินเดือด! แฉทีมช่างเครื่อง ใช้อะไหล่ปลอม-หมดอายุ ซัดเหมือนหลอกนักบินไปตาย
petchpawee_k
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567
28 ส.ค. 2567