สิ่งแวดล้อม
“ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” เทรนด์ใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวหัวใจรักษ์โลก
โดย panisa_p
14 ก.ค. 2566
84 views
ในปัจจุบันภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ โดยจะเห็นได้จากสถานการณ์ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย น้ำแข็งขั้วโลกสลาย ปะการังที่กำลังตาย ระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลง และคลื่นความร้อนที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้ หลายคนอาจคิดว่าสาเหตุมาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจพลังงานเพียงเท่านั้น แต่จากงานวิจัยของนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี หรือคิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น จึงก่อให้เกิดการท่องเที่ยวสีเขียว หรือ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Tourism เริ่มเป็นกระแสที่นักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการท่องเที่ยวที่จะกำหนดกิจกรรมในการท่องเที่ยวให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นนาน ๆ ทำกิจกรรมท่องเที่ยวแบบลึกซึ้งกับคนพื้นถิ่น รวมถึงการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนอกเหนือจากการเดินทางไปสัมผัสเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นหนึ่งแนวทางในการสร้างความยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั่วโลก
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอาจมีทั้งการท่องเที่ยวแบบง่าย ๆ ราคาประหยัด ไปจนถึงการท่องเที่ยวแบบหรูหรา ราคาแพง ตามความชอบหรือความต้องการของนักท่องเที่ยว เพียงแต่กิจกรรมและแผนการท่องเที่ยวนั้นจะต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เริ่มตั้งแต่การจัดกระเป๋าเดินทางให้มีน้ำหนักเบา การเลือกยานพาหนะในการเดินทางโดยเน้นการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ควบคู่ไปกับการใช้จักรยาน หรือพายเรือไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน หรือใช้พลังงานให้น้อยที่สุด เลือกพักในโรงแรมที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ลดปัญหาขยะ หรือที่พักที่มีระบบการจัดการที่เอื้อต่อธรรมชาติ การเลือกรับประทานอาหารที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่ง เน้นการท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาจมีกิจกรรมที่ชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น กิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ เป็นต้น อีกทั้งการทำกิจกรรมท่องเที่ยวและกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเดินทางควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งขยะอย่างถูกต้อง การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีโครงการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ โดยทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันวิจัย บริเวณทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งมีกิจกรรมหลักในการท่องเที่ยว ได้แก่ ปั่นจักรยาน พายเรือคายัก ปล่อยลูกเต่าลงทะเล ปลูกปะการัง กิจกรรม Seed Bomb ยิงเมล็ดพืชปลูกป่า และรับประทานอาหาร Low Carbon Menu เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งทาง อพท. ได้เก็บผลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และพบว่า สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 56% เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติในพื้นที่ ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีสถานที่เที่ยวคาร์บอนต่ำที่น่าสนในหลานพื้นที่ เช่น เกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท เป็นต้น ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวหัวใจรักษ์โลกได้ไปสัมผัส
จะเห็นได้ว่าหัวใจของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ คือ “การท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด และรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด” ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสำคัญที่สุดคือเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมรอบตัว และช่วยกันฟื้นฟูให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง เทรนด์ใหม่ ,ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ,นักท่องเที่ยวหัวใจรักษ์โลก