เศรษฐกิจ

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' บอกเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็น ปม 'ทักษิณ' เสนอปรับลดค่า FIDF-แฮร์คัทหนี้

โดย weerawit_c

25 ส.ค. 2567

264 views

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำ นโยบายการเงิน ยึด 3 ปัจจัยหลัก เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน หากภาวะการเงินตึงตัวและผลกระทบแรงกว่าคาด ก็พร้อมทบทวนดอกเบี้ยนโยบาย


วานนี้ (24 ส.ค.) ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวานฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติพูดมาตลอดโดยการยึดหลัก Outlook Dependent ซึ่งหาก Outlook เปลี่ยนแบงก์ชาติก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโบายการเงิน โดยการพิจารณาจาก 3 ส่วน คือ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน วันนี้หากดูด้านอัตราเงินเฟ้อ ยังอยู่ในคาดการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมี Downside Risk แต่เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ยังคงอยู่ในกรอบ


อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญกว่าคือการรักษาการคากการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นภาพของเงินเฟ้อที่ต่ำลงจนนำไปสู่เงินฝืด หรือทำให้การบริโภคชะลอตัวลงต่อเนื่อง


ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จากภาพการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี. ที่ออกมาล่าสุด ถือว่าออกมาเป็นไปตามคาด แม้ว่าจะมี Downside Risk แต่โดยรวมมีภาพของการค่อยๆ เข้าสู่ศักยภาพ แต่ยอมรับว่า มีความเสี่ยงในบางมิติที่มากขึ้น เช่น การลดลงของการลงทุนเอกชนที่ลดลง แต่โดยรวมประมาณการณเศรษฐกิจที่ออกมายังใกล้เคียงกับที่กนง.ประเมินไว้


และสุดท้ายในเรื่องที่สามของเสถียรภาพการเงิน ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยแบงก์ชาติดูความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจและภาคการเงิน โดยแบงก์ชาติมองเห็นการ “ตึงตัว” มากขึ้น หรือ ตึงตัวเกินไป ซึ่งมาจากธนาคารปล่อยสินเชื่อลดลง จนเริ่มมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น หากสถานการณ์มีกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ก็พร้อมปรับนโยบายการเงินที่เหมาะสม


ส่วนกรณีเวที Vision for Thailand ได้แสดงความเห็นเชิงข้อเสนอถึงการให้แบงก์ชาติ ปรับลดเงินนำส่งของสถาบันการเงินที่ให้มาใช้หนี้คืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46% ลดลงมาให้เหลือ 0.23% เพื่อนำมาแก้หนี้และลดหนี้คนไทยในปัจจุบัน นายเศรษฐพุฒิ ตอบว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะตอบให้ความเห็นในเรื่องนี้"


ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ อธิบายว่า ปัจจุบันเงินนำส่งเพื่อใช้หนี้คืน FIDF เรียกเก็บจากสถาบันการเงิน 0.46% ต่อปี จะได้ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นปีละสองงวด หรืองวดละ 35,000 ล้านบาท โดย FIDF ยังมีหนี้ที่ต้องใช้คืน 5.8 แสนล้านบาท มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 16,000 ล้านบาท และคาดว่าในสิ้นเดือนกันยายน 2567 หนี้จะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท


หากให้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ตามข้อเสนอ จะทำให้ดอกเบี้ยไม่ถูกลดลงไป 5,000 ล้านบาท และจะเกิดต้นทุน ทำให้เงินต้นลดลงช้าไปอีกครึ่งปี หากให้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม หนี้จากกองทุน FIDF นี้ ยังอยู่ภายใต้บัญชีงบดุลของกระทรวงการคลัง และถูกคิดเป็นหนี้สาธารณะด้วย



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/-AVPeuAkJR4

คุณอาจสนใจ

Related News