เศรษฐกิจ

สรรพากร รับ Temu ไม่ได้จดทะเบียนในไทย ไม่เข้าข่ายเสียภาษี 'ภูมิธรรม' ไม่อยากตอบโต้จีน หวั่นกระทบส่งออก

โดย thichaphat_d

10 ส.ค. 2567

10.1K views

วานนี้ 9 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีนว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนนำประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร,กรมสรรพากร ผู้ดูแลการนำเข้าและภาษี, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ผู้ดูแลเรื่องแพลตฟอร์มต่างๆ, กระทรวงอุตสาหกรรมผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้า และกระทรวงสาธารณสุข ผู้ดูแลมาตรฐานอย. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้า ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกซึ่งทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ผ่าน ทาง E- Commerce และ ด่านต่างๆ เพื่อดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทุ่มตลาดหรือไม่ กฎระเบียบต่างๆเป็นอย่างไร รวมถึงเกณฑ์ของ WTO

โดยเน้นแนวทางปกป้องสินค้าไทยบนพื้นฐานของกฎหมายที่มีอยู่ ไม่เน้นเรื่องการตอบโต้ เพราะยอมรับว่าอาจจะกระทบกับความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศซึ่งไทยก็ส่งออกสินค้าเกษตรให้จีนอยู่ อย่างไรก็ตามในส่วนตัวได้หารือกับทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งทางทูตจีนได้แสดงความกังวลเช่นกันพร้อมที่จะหาแนวทางร่วมกันต่อไป พร้อมระบุการที่จีนจะบุกไทยหรือไทยจะบุกจีนถือเป็นแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ จีนมีสิทธิ์จะเข้ามา ไทยก็มีหน้าที่ที่จะปกป้องตัวเอง หากลุกขึ้นมาตอบโต้ ห้ามจีนทำการค้า ทางจีนเองก็อาจจะห้ามไทยได้ด้วยเหมือนกัน การค้าระหว่างประเทศก็จะไม่เกิดขึ้น

ด้าน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ส่งอีเมล์ไปยังแพลตฟอร์ม Temu เพื่อแจ้งให้ทราบว่าหากแพลตฟอร์ม Temu เข้าข่ายเกณฑ์ที่กำหนดที่จะต้องจ่ายภาษีของไทย ก็ต้องเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ไม่เปิดเผยว่าทางแพลตฟอร์ม Temu ตอบกลับหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มาจดทะเบียนผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในระบบกว่า 180 ราย สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว่า 6000 ล้านบาท และต้องมีผู้ค้าของไทยมาทำการค้ากับแพลตฟอร์มนั้น และมีการเก็บค่าดำเนินการต่างๆเช่นค่าคอมมิชชั่น กรมสรรพากรก็จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับผู้ค้าไทย แต่ในส่วนแพลตฟอร์ม Temu ยังไม่เข้าข่ายดังกล่าว คือไม่ได้มีการตั้งถิ่นฐานสำนักงานในไทย และไม่ได้ทำการค้ากับพ่อค้าแม่ขายในไทย ซึ่งแม้จะพบว่ามีผู้ซื้อสินค้าจาก Temu ในปริมาณมากหรือมีความถี่ ก็ไม่สามารถไปตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าซื้อมาเพื่อขายต่อ

ในส่วนกรณีมีผู้ประกอบการจีนมาตั้งร้านค้าในประเทศไทย เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องตรวจสอบใบประกอบธุรกิจการค้า อย่างไรก็ตามกรมสรรพากร ได้ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้องอยู่ แต่ไม่ใช่ลักษณะตรวจจับ อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีผู้ร้องเรียนว่ามีต่างชาติเข้ามาตั้งธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ตรวจสอบต่างหากและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการภายใต้อำนาจของกฎหมายในแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ปกติแล้วการส่งจดหมายเพื่อแจ้งเตือนธุรกิจให้เข้าระบบภาษีปัจจุบันมีผลสำเร็จถึงครึ่งของการชี้แจงทั้งหมด


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/CS3fW77hZ3g

คุณอาจสนใจ

Related News