เศรษฐกิจ

ส่อเค้าอ่วม! กกพ.เคาะ 3 ทางเลือก ‘ค่าไฟ’ งวด ก.ย.-ธ.ค.67 พุ่งแตะ 4.65 - 6.01 บาท/หน่วย

โดย thichaphat_d

13 ก.ค. 2567

319 views

กกพ.เคาะ 3 ทางเลือก ‘ค่าไฟ’ งวด ก.ย.-ธ.ค.67 พุ่งแตะ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.18 บาท

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 67 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยผลการคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 67 (งวดสุดท้ายของปี) ว่าค่าเอฟทีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าพุ่งสูง ทั้งจากปัจจัยเงินบาทอ่อนค่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินทั้งในและต่างประเทศมีความพร้อมลดลง รวมถึงราคา LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้า

ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงปลายปีนี้อาจต้องปรับเพิ่มค่าเอฟที ในระดับ 46.38-182.99 สต./หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในเดือน ก.ย.-ธ.ค. ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

โดย กกพ. จะเปิดรับฟังความเห็นค่าเอฟที ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 กรณี

กรณีที่ 1 จ่ายคืนหนี้ต้นทุนคงค้างทั้งหมด 98,495 ล้านบาท ภายในงวดเดียว จะทำให้ค่าเอฟที เท่ากับ 222.71 สต./หน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.78 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟของผู้ใช้ไฟทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 44% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 4.18 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนหนี้ต้นทุนคงค้างใน 3 งวด งวดละ 32,832 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในสิ้นเดือน​ ธ.ค. ปีนี้ จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.แบกรับอยู่ที่ 65,663 ล้านบาท และจะทำให้ค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ เท่ากับ 113.78 สต./หน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.78 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟของผู้ใช้ไฟทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 18% จากปัจจุบัน

กรณีที่ 3 จ่ายคืนหนี้ต้นทุนคงค้างใน 6 งวด งวดละ 16,416 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น สามารถรักษาระดับความน่าเชื่อถือและลดภาระอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าในสิ้นเดือน​ ธ.ค. ปีนี้ จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.แบกรับอยู่ที่ 82,079 ล้านบาท และจะทำให้ค่าเอฟที รอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เท่ากับ 86.55 สต./หน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.78 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟของผู้ใช้ไฟทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 11% จากปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 แนวทาง นอกจากรับฟังความเห็นประชาชนระหว่างวันที่ 12-26 ก.ค.นี้ แล้ว ยังต้องรับฟังนโยบายจากภาครัฐด้วย โดยหากต้องการตรึงค่าไฟให้อยู่ในระดับเดิม ที่ 4.18 บาท/ หน่วย อาจต้องใช้เงินมาอุดหนุนเพิ่มเติม ราว 28,000 ล้านบาท เพื่อประคองต้นทุนหนี้คงค้างที่ กฟผ. จะต้องแบกรับต่อเนื่อง และ แบกรับต้นทุนค่าไฟใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคา 3.99 บาท/หน่วย ต่อเนื่องหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณออกมาจากภาครัฐ



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/vJtJ8PNbzqY

คุณอาจสนใจ