เศรษฐกิจ

กบน.เลิกอุ้มดีเซล จ่อทะลุลิตรละ 32 บาท ลุ้นคลังต่ออายุลดภาษี ยอมสูญรายได้ 6 พันล้าน

โดย petchpawee_k

30 มี.ค. 2567

50 views

คลังจ่ออุ้มดีเซลต่อ 3 เดือน ลดภาษีลิตรละ 1 บาท  ยอมหั่นรายได้ 2 พันล้านบาทต่อเดือน หลังมาตรการจะสิ้นสุดลง 19 เม.ย.นี้ เผยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 9.8 หมื่นล้านบาท

จากกรณีวานนี้ (29 มี.ค. 67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาท/ลิตรได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป หลังมาตรการตรึงดีเซลลดค่าครองชีพจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยการดำเนินการปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซล กบน. จะพิจารณาถึงข้อมูลต่างๆ ตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมันมากจนเกินไป ทั้งนี้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2567 ยังไม่มีการดำเนินการอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ระดับสูง 104.03 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (เฉลี่ยวันที่ 1 – 20 มี.ค.67) กบน. จึงเห็นควรมีการพิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนฯ ประเภทน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศสอดคล้องกับราคาตลาดโลกมากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะนำข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาพิจารณาร่วมกับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

พ.ศ.2563 – 2567 ทุกครั้งที่มีการปรับอัตราเงินกองทุนฯ ในประเภทน้ำมันดีเซล ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวดีขึ้น เพื่อสามารถใช้กองทุนฯ เป็นเครื่องมือรองรับกับสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะดำเนินการประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อหารือในเรื่องอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไป

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2567 ติดลบ 98,220 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,136 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,084 ล้านบาท

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คลังพร้อมพิจารณาขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดมาตรการลงในวันที่ 19 เม.ย.2567 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการต่ออายุมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากถึง 2,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่เพื่อประโยชย์ของประชาชน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยเงื่อนไขต่างๆ จะต้องรอกระทรวงพลังงานเสนอมาให้พิจารณาอีกครั้ง ตอนนี้ยังไม่เห็นข้อเสนอ คาดว่ายังพอมีเวลา

ทั้งนี้ ผลจากการปรับลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล รวมทั้งน้ำมันเบนซิน จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีหนี้เฉลี่ยเดือนละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 เดือน จะมีหนี้ 6 พันล้านบาท และส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ม.ค.2567) รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 8.8 พันล้านบาท หรือ 1.1%


https://youtu.be/vXjmSVqyxK4

คุณอาจสนใจ