เศรษฐกิจ

ส่อง 'ธนาคารพาณิชย์' ปี 66 กำไรกันอื้อซ่า - 'เผ่าภูมิ' ตั้งคำถาม 6 ข้อ ถึงแบงก์ชาติ

โดย passamon_a

20 ม.ค. 2567

691 views

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงวันที่ 18 และ 19 มกราคมนี้ เป็นกำหนดเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการแจ้งงบการเงินงวดปี 66 ซึ่งหลายแบงก์แจ้งเข้ามาแล้ว พบว่ามีกำไรเพิ่มขึ้น และหลัก ๆ ก็มาจากรายได้ดอกเบี้ย ตอกย้ำทีมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปี 66 แบงก์มีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ จากดอกเบี้ยขาขึ้น และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ


ธนาคารกรุงเทพ ประกาศผลการดำเนินงานปี 66 มีกำไร 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 42.1% ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มถึง 28% สอดคล้องทิศทางต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น


ส่วน เอสซีบี เอกซ์ โกยกำไรไป 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ตามมาติด ๆ กำไร 42,405 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 18.55% รายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม 11.61%


ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไร 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% หรือ 2,216 ล้านบาท จากปี 65 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ที่ควบรวมแล้วเสร็จในปี 66


ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb แจ้งมีกำไร 18,462 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 5 พันล้านบาท จากปีก่อนที่กำไร 1.42 หมื่นล้านบาท


ส่วนธนาคารในต่างประเทศ ก็ทยอยรายงานผลการดำเนินงานเช่นกัน แต่ผลการดำเนินงานสวนทางกับธนาคารในประเทศไทย โดยธนาคารหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รายงานผลการดำเนินงานว่า กำไรไตรมาส 4 ปี 2023 ร่วงลง ทั้งธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หยุดขึ้นดอกเบี้ย บวกกับการที่ธนาคารแข่งกันให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง เพื่อรักษาลูกค้า ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารต่าง ๆ ทั่วทั้งอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารสหรัฐหดตัวลง


ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนโยบายการเงิน 6 ประเด็น ดังนี้


1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ติดลบ 14 เดือนติด สัญญาณอันตรายภาคการผลิตของประเทศ และยอดขายรถเชิงพาณิชย์ ตัววัดสำคัญของการลงทุน ติดลบ 4 ไตรมาสติด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินที่ผ่านมา เพิ่มต้นทุนการเงินเอกชน เป็นลบต่อการลงทุนในวงกว้าง หรือไม่


2. ในขณะที่เอกชนต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นตัว แต่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (ดูแลโดย ธปท.) ล่าสุด หดตัวราว 0.9% yoy ในขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (ดูแลโดย ก.คลัง) โตราว 3.8% ในช่วงเดียวกัน ใช่หรือไม่ สะท้อนอะไร ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรมีการปรับในเชิงนโยบายหรือไม่


3. งบประมาณล่าช้า เศรษฐกิจไร้แรงขับ รายจ่ายลงทุนต้นปีงบ 68 เดือน ต.ค. ติดลบ 45% และ พ.ย. ติดลบ 75% yoy และจะเป็นอย่างนี้ทุกเดือนจนงบ 68 บังคับใช้ ท่านเห็นความอันตรายของภาวะนี้ไหม นโยบายการเงินควรมีการปรับตัว เพื่อเข้าช่วยในช่วงที่มาตรการทางการคลังติดขัดนี้ หรือไม่ อย่างไร


4. ประมาณการเศรษฐกิจในปี 66 จากต้นปีสู่ปลายปีคลาดเคลื่อนสูง ประเมินความร้อนแรงของเศรษฐกิจ สูงเกินจริง นำสู่นโยบายการเงินที่ไม่สะท้อนสภาวการณ์หรือไม่ และภาวะเงินเฟ้อติดลบ หลุดกรอบต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินนั้น หรือไม่


5. นอกจากตัวเลขมหภาค ต้องมองเศรษฐกิจภาคประชาชนด้วย รายได้ประชาชนโต 7.86% แต่รายจ่ายโต 12.7% ชี้ชัดภาวะ รายจ่ายโตเร็วกว่ารายได้ นั่นคือหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แต่นโยบายการเงินที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซ้ำเติมหนี้สิน และความเดือดร้อนของประชาชน หรือไม่


6. นโยบายการคลัง (รัฐบาล) และนโยบายการเงิน (ธปท.) ควรสอดประสานกันหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกดคันเร่งนโยบายการคลัง (ซึ่ง Digital Wallet เป็นหนึ่งในนั้น) แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในช่วงการกดเบรคหรือไม่ และการขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรค พร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่


https://youtu.be/CJBmke6zxgo

คุณอาจสนใจ

Related News