เศรษฐกิจ

กนง. เสียงแตก 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%

โดย olan_l

12 มิ.ย. 2567

27 views

กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี มองสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น


นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี

กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 1 ท่าน ที่เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ให้เหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้

ทั้งนี้ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.6% และ 3% ในปี 2568 โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งสินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง โดยต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยประเมินมาตรการต่างๆที่ชัดเจนเข้าไปแล้ว คือ พวกที่อยู่ในงบประมาณรวมถึงความเสี่ยงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่กิจการ เป็นความเสี่ยงทางบวก หรือ Upside Risk จากมาตรการที่ยังไม่ชัดเจนด้วย เช่น ดิจิทัลวอลเล็ตที่จะส่งผลในไตรมาส 4 ปีนี้และ ไตรมาส 1 ปีหน้า ส่วนกรณีที่นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินว่าหากเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้โตได้ถึง 3% นั้น มองว่าเป็นไปได้ หากเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณได้จริง และมีโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เข้ามาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% ในปี 2567 และ 1.3% ในปี 2568 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 0.9% ในปี 2568 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับปัจจัยในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้างหลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

คณะกรรมการฯมีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ


https://youtu.be/k1W8s00Ewr4

คุณอาจสนใจ