เศรษฐกิจ
หนี้เน่าบัตรเครดิตพุ่ง 1 ล้านบัตร หลังเพิ่มจ่ายขั้นต่ำเป็น 8%
โดย panwilai_c
8 พ.ค. 2567
132 views
เครดิตบูโร ส่งสัญญาณ หนี้เน่าบัตรเครดิตพุ่ง หลังแบงก์ชาติปรับจ่ายขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% เพียง 3 เดือนแรก หนี้เน่าพุ่งเป็น 1 ล้านบัตร และอีก 1.9 แสนบัตร ออกอาการ ส่อเป็นหนี้เสีย กลุ่ม Gen Y อ่วมสุด
โดยนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร โพสเฟสบุ๊ค ระบุว่า แค่ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เป็น 8% พบว่า มีบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เน่า หรือ NPL คือ ค้างชำระเกิน 90 วัน เพิ่มเป็น 1 ล้านบัตรเศษ คิดเป็นยอดเงินกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน
และเมื่อดูยอดหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือ S M ถึงกับตาโต เพราะมีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก ติดๆ ขัดๆ กว่า 1.9 แสนบัตร จำนวนเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโตถึง 32.4% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 66 พบว่า เติบโตถึง 20.6 %
ทั้งนี้ บัตรเครดิตที่เป็นหนี้กำลังจะเสีย ในจำนวนเกือบสองแสนใบนั้น / 3.6 หมื่นบัตร เปิดมาไม่เกิน 2 ปี อยู่ในมือคน Gen Y ถึง 2.3หมื่นบัตร / อีก 3.9 หมื่นบัตร เปิดมาไม่เกิน 4 ปี อยู่ในมือ Gen Y จำนวน 2.7หมื่นบัตร และ Gen X 9.2พันบัตร / และอีก 4.5 หมื่นบัตร เปิดมาไม่เกิน 6 ปี อยู่ในมือคน Gen Y จำนวน 3 หมื่นบัตร และGen X 1.2 หมื่นบัตร นั่นเท่ากับว่า มีบัตรในมือ Gen Y กำลังไหลไปเป็นกหนี้เน่า ถึง 8 หมื่นบัตร
ทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ว่าบัตรที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย จะไหลต่อเป็น NPLs. อีกเท่าใด การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% และจะเพิ่มเป็น 10% ในปีหน้า มันช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆ หรือไม่ ในภาวะที่ปัญหาค่าครองชีพสูง สวนทางกับรายได้ไม่ฟื้นตัว เปราะบางจนนุ่มนิ่ม มันสะท้อนแล้วว่า ชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น
ซึ่งหากย้อนกลับไปดูมาตรการนี้ แบงก์ชาติ ระบุว่า จะส่งผลดีต่อลูกหนี้ เพราะการจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับเพิ่มจ่ายขั้นต่ำ ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้นก็จริง แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และสามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็โอนหนี้แบบแบ่งชำระ หรือถ้าโคม่าเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้