เศรษฐกิจ

กมธ.งบ เดือด พท. รุมโวยผู้ว่าฯธปท. ไม่มาแจงเอง ก.ก.จี้ถาม วิกฤตศก.คืออะไร

โดย panwilai_c

10 ม.ค. 2567

109 views

กมธ.งบปี 67 เดือด พท. รุม ธปท. โวย "เศรษฐพุฒิ" ผู้ว่าฯ ไม่มาชี้แจงเอง



10 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ โดยได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกของการประชุม กรรมาธิการฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตสส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่พอใจ ต่อผู้แทน ธปท. ภายหลังจากที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งๆที่ การประชุมกมธ.ในวาระนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท. ยืนยันว่า นายเศรษฐพุฒิ มีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่า ตนได้รับมอบหมาย จาก ผู้ว่า ธปท. ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.อย่างเป็นทางการ



จากนั้น กรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย หลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท. หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ห่างกันมาก จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด – 19



ดังนั้นแม้ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ภายหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ สามารถทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท



ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน ทั้ง 4 หน่วยงานถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็น "วิกฤตเศรษฐกิจ" ด้านผู้แทน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.)เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง.จึงได้มีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้การปรับดอกเบี้ย นโยบายในปัจจุบัน กนง. มองว่ามีความเหมาะสม กับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ



ตัวแทน ธปท. ยังได้กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" นั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การเกิดวิกฤต จากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด- 19 ที่พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องมีการออก พ.ร.ก. ในช่วงเวลาขณะนั้น


https://youtu.be/sk-nsje_uqY

คุณอาจสนใจ

Related News