เศรษฐกิจ

เฮ! ครม. เคาะลดราคาน้ำมัน-ไฟฟ้า ช่วยค่าครองชีพ

โดย panwilai_c

13 ก.ย. 2566

60 views

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ไฟเขียวมาตรการลดค่าครองชีพ และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้า รวมถึงฟรีวีซ่ากระตุ้นการท่องเที่ยว



ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี "เศรษฐา 1" นัดแรกอย่างเป็นทางการวันนี้ เห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้า ทั้งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่ 20 กันยายน ยาวถึง 31 ธันวาคมนี้ นอกจากนี้ยังเห็นชอบการปรับลดค่าไฟฟ้าลง 35 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟปรับลดลงจาก 4.45 บาทต่อหน่วย ลดเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย โดยจะมีผลภายในรอบบิลเดือนกันยายนนี้



โดยหลังจาก ครม. มีมติออกมา นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้เข้าทำงานที่กระทรวงเป็นวันแรก พร้อมเปิดเผยว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน จะพิจารณาช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยระหว่างนี้จะกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จะตรึงราคาขายปลีกที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง



ขณะที่การปรับลดค่าไฟฟ้า จะร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก นอกจากนี้ จะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มเปราะบางด้วย



ด้านนายสิรภพ พิชัยรัตนพงศ์ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่า แม้ว่ารัฐบาลจะลดราคาพลังงานลงมาได้ แต่อาจไม่ส่งถึงราคาสินค้าให้ถูกลง เพราะที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะช่วยเหลือต้นทุนด้วยการลดภาษีน้ำมันลงมา 5 บาทต่อลิตร แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงตาม จึงเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาสินค้าปลายทางเพิ่มด้วย



ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีการเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหารือในเรื่องดังกล่าวโดยให้ไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง วางกรอบระยะเวลาให้เหมาะสม โดยยืนยันว่าการใช่เงินจะต้องไม่ให้เป็นภาระหนี้สาธารณะ โดยจะเลือกใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก และจะไม่มีการกู้เงินเพิ่ม นอกจากนี้ยังอนุมัติขยายเวลาคงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่อไปอีก 1 ปี ถึง 30 ก.ย. ปีหน้า

https://youtu.be/wdrDCe6FZpA

คุณอาจสนใจ