เศรษฐกิจ

'กกร.' เบรกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ยังไม่ถึงเวลา ชี้ทำต้นทุนธุรกิจพุ่ง 70%

โดย parichat_p

7 ธ.ค. 2565

87 views

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่องการทยอยขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท


โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า กกร. มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว กับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรง ต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน หากขึ้นเป็น 600 บาท จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 328 - 354 บาทต่อวัน


ถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน โดยพาะกลุ่ม SME ที่ยังมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่อง และยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้ SME ต้องเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ที่อาจชะลอลง เพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยตรง


กกร. ยังจะเสนอให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าไฟ รอบเดือนมกราคม-เมษายน ปี 66 ไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งเรื่องต้นทุนผู้ประกอบการ และภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยเวลานี้ สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และยังมีนโยบายตรึงค่าไฟออกไปอีก 1 ปีด้วย หากไทยปรับขึ้น จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอน


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/4jvfskSnOG0

คุณอาจสนใจ

Related News