เศรษฐกิจ

แค่ทบทวน! นายกฯยัน ยังไม่ยกเลิกแจกเงินหมื่นเฟส 3 - ‘พิชัย’ สั่งแบงก์รัฐลดกำไร อุ้มธุรกิจไทยสู้ภาษีสหรัฐฯ

โดย petchpawee_k

16 พ.ค. 2568

36 views

“พิชัย” สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-รีดงบหมดหน้าตักช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผุดมาตรการ -ลดดอกเบี้ย รับมือวิกฤติกำแพงภาษี ตั้งเป้าช่วยธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐ ซัพพลายเชน ผู้ผลิตแข่งขันกับสินค้านำเข้า ธุรกิจท่องเที่ยว

วานนี้ ( 15 พ.ค.68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแจกเงินหมื่นเฟส 3 ตกลงจะได้หรือไม่ เนื่องจากนายกฯ  ได้ระบุว่าจะมีการทบทวน ว่า ใช่ค่ะ เพราะมีความเห็นเข้ามาของเรื่องภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่มันเป็นสถานการณ์ทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยใหม่ๆ อันนี้ต้องฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้ข้อสรุปอย่างไร จะรีบบอก เมื่อถามว่า มีการเข้าใจกันไปแล้วว่าอาจจะมีการยกเลิก ก็เลยใจเสียไปแล้ว น.ส.แพทองธาร กล่าวว่าเรากำลังหาวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลมากที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวรอฟังความเห็นให้ครบ ความจริงเรากำลังพยายามผลักดันทุกแง่มุม

ขณะที่ วานนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวใน “การประชุมมอบนโยบายสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยภาคธุรกิจรับ มาตรการภาษีสหรัฐ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล” ว่ากระทรวงการคลังมีนโยบายเร่งด่วนให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

นายพิชัยกล่าวว่าจะพิจารณาธุรกิจท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบด้วย ส่วนมาตรการช่วยแรงงานที่เสี่ยงจะตกงาน คงต้องทำในเฟส 2

พร้อมยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง2 ปีหลังจากนี้จะเกิดภาวะสะดุด ผลกระทบจากำแพงภาษีจะเกิดในระยะยาว ซึ่งไม่เพียงเฉพาะผู้ส่งออกโดยตรงไปยังสหรัฐ แต่ยังกระทบกับ SMS ที่อยู่ในซัพพลายเชนด้วย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยจะไม่มากไปกว่าประเทศอื่น ยืนยันสถานะทางการเงินของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังเข็มแข็ง



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/zFc5vj5mhPQ


คุณอาจสนใจ

Related News