เศรษฐกิจ

‘จุลพันธ์’ โอดกลางสภา ‘ศิริกัญญา’ ถามเหมือนปัญหาเชาว์ปมแจกเงินดิจิทัล แจงอีเพย์เมนต์ใช้ 2 แอปฯคู่กัน

โดย petchpawee_k

14 มี.ค. 2568

578 views

“จุลพันธ์” โอดกลางสภา ศิริกัญญา ถามเหมือนปัญหาเชาว์ แนะ ครั้งหน้าบอกคำถามมาก่อนจะได้เตรียมคำตอบมาให้ แจงอีเพย์เมนต์ ใช้ 2 แอปคู่กัน ป้องนายกอิ๊งค์ พูดถูกแล้ว ยันกรอบเดิมไตรมาส 3 ทันใช้แน่


เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.68) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม  นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง เพย์เมนต์แพลตฟอร์ม ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า สรุปแล้ว จะใช้แอปไหนในการจ่ายเงิน เพราะนายกรัฐมนตรี บอกว่าใช้แค่แอปทางรัฐ  ซึ่งแตกต่างจากรัฐมนตรีคนอื่น รวมถึงระบบ API บลูปริ้น ที่จะทราบถึงประเภทสินค้าที่ประชาชนจะซื้อได้เลยจริงหรือไม่


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ตอบกระทู้แทน  ระบุว่า  วันนี้เหมือนมาตอบปัญหาเชาว์ เพราะไม่รู้คำถามก่อนและเมื่อผู้ถามถามมา  ตนก็ใช้เชาว์ปัญญาในการตอบ จึงอยากให้ครั้งต่อไป ขอให้บอกมาเลยว่าจะถามอะไร  จะได้เตรียมคำตอบมาให้  พร้อมยืนยันว่าที่นายกรัฐมนตรีพูดก็ถูกต้อง ว่าใช้ระบบแอปทางรัฐ ซึ่งความจริงแล้ว ใช้ได้ทั้ง 2 ช่องทาง คือ


1.แอปทางรัฐที่กำลังพัฒนาอยู่ เพราะในอนาคตระบบจะเป็นระบบเพย์เมนต์แพลตฟอร์ม ซึ่งจะไปโยกย้ายสวัสดิการต่างๆ รวมศูนย์ราชการอยู่ในระบบเดียว


2.ช่องทางที่เชื่อมต่อกับธนาคาร และเชื่อว่าแม้จะใช้แอปธนาคารในการจ่ายเงินสุดท้ายก็ต้องโหลดแอปทางรัฐอยู่ดี เพราะต้องเชื่อมกันทั้ง 2 ช่องทาง ดังนั้นจำเป็นต้องโหลดทั้ง 2 อย่างอยู่แล้ว ขณะนี้แอปทางรัฐมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 34 ล้านคน

ส่วนคำถามที่ 2 เรื่องการเช็คประเภทสินค้า ยืนยันว่าการกำกับดูแลค่อนข้างยาก เราให้ร้านโชห่วยเข้าร่วม แต่ไม่มีเครื่องออกบิล จึงไม่ทราบว่าประชาชนจะซื้ออะไร หากไปกำกับมากๆ จะทำให้เกิดการซื้อสินค้าผิดประเภทและเป็นคดีความต่อไปได้  ดังนั้นเรากำลังป้องกันปัญหาเหล่านี้อยู่ แต่ในที่สุดรัฐบาลมองเป้าว่าจะพัฒนาให้ร้านค้ามีแอปส่วนตัวเพื่อเชื่อมโยงกับรัฐ และไม่ได้หมายความว่ารัฐต้องพัฒนาแอป เพื่อไปดูว่าประชาชนซื้ออะไร


ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นความรู้ใหม่ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างแอปทางรัฐ สรุปแล้วมีจัดซื้อจัดจ้างไปเท่าไหร่ และความคืบหน้าระบบย่อยทั้ง 6 ระบบ คือ 1.ระบบรักษาความปลอดภัย 2.เรื่องบล็อกเชน การยืนยันการใช้จ่ายในทุกธุรกรรม 3.การทดสอบระบบ  4.การตรวจสอบการทุจริต  5.ระบบคอลเซ็นเตอร์  6.ผู้ดูแลภาพรวมทั้งหมดของการทำงานข้ามกระทรวง จะแล้วเสร็จทันตามกรอบเวลาไตรมาส 3 ที่วางไว้หรือไม่


นายจุลพันธ์ กล่าวยืนยันว่า API บลูปริ้นไม่มีการเปลี่ยนใหม่ แต่ตนไม่สามารถตอบได้ว่าแต่ละระบบย่อยจะเสร็จเมื่อไหร่  แต่ยืนยันว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ดูภาพรวมและบริหารจัดการทั้งหมด  เร็วๆ นี้จะมีการทดสอบระบบ และยืนยันแอปอยู่ในความปลอดภัยสูงสุด  ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบโครงการดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้แอปทางรัฐเป็นแอปที่ DGA คิดเองไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง พร้อมยืนยันกรอบเวลาเสร็จทันต้นไตรมาส 3 แน่นอน


น.ส.ศิริกัญญา จึงกล่าวว่า คำตอบของนายจุลพันธ์ย้อนแย้งกัน หากคลังเป็นผู้ดูแลจริง เป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ต้องทราบดีว่าการพัฒนาระบบต่างๆ นั้นไปถึงไหนแล้ว ทำไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และหากคลังเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์จริง แต่ตอบคำถามไม่ได้  ก็ต้องมาลุ้นกันในช่วงปลายไตรมาส 2  ส่วนคำถามสุดท้าย เรื่องร้านค้าแผงลอยที่ต้องรอลงทะเบียบทีหลังนั้น ต้องตรวจสอบคุณสมบัติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)   จึงถามว่าทำไมต้องมีร้านค้าได้อภิสิทธิ์กว่ารายย่อย  อีกทั้งยังจำกัดสิทธิของร้านค้าอีกด้วย


นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังไม่ใช่โปรเจ็กต์เมเนเจอร์ แต่เป็นโปรเจ็กต์โอนเนอร์ ซึ่งตนเป็นผู้บริหารจึงไม่สามารถลงรายละเอียดในทั้งหมดได้ แต่ยืนยันว่า มีผู้ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการคลัง  ยืนยันว่าแอปพลิเคชั่นทั้งหมดพัฒนาทันตามกรอบเวลา และในฐานะรัฐมนตรี   ต้องบริหารนโยบายให้สำเร็จ ทันตามกรอบเวลา เงินถึงมือประชาชน  ส่วนระบบลงทะเบียนร้านค้า คือ ร้านที่ไม่ได้ลงทะเบียน ไม่ใช่ร้านโชว์ห่วย แต่เป็นหาบเร่แพงลอยที่ไม่เคยลงทะเบียนกับรัฐมาก่อน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนจริง ไม่ใช่เงา และมีการกำหนดพื้นที่ด้วย จึงต้องใช้ อปท.หรือ ไปรษณีย์ และกลุ่ม 4 ธนาคาร เป็นหน่วยงานที่ให้ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยเหลือและคัดกรอง


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/6-8_SQPwIEw

คุณอาจสนใจ

Related News