เศรษฐกิจ
OPPO-Realme รับติดตั้งแอปฯ เงินกู้ ตั้งแต่โรงงาน กสทช.จี้ให้รีบลบ-สั่งหยุดจำหน่ายมือถือที่มีแอปฯ
โดย thichaphat_d
14 ม.ค. 2568
83 views
OPPO-Realme เข้าแจง กสทช.ยอมรับ ติดตั้งแอปเงินกู้ตั้งแต่โรงงาน หวังอำนวยสะดวกด้านธุรกรรม โดยไม่ได้ขออนุญาตจากแบงก์ชาติ - กสทช.ขีดเส้นให้ระบุวันลบแอปฯ เร่งด่วน 16 ม.ค.นี้ หลังขอเวลา 1 เดือน แต่ จนท.บอกนานเกินไป พร้อมสั่งหยุดจำหน่ายสินค้าที่มีแอปฯ ขณะที่ทั้ง 2 ค่าย ยืนยันคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวลูกค้าเต็มที่
กรณีสมาร์ทโฟน 2 ค่ายดัง OPPO และ Realme ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้ 'สินเชื่อความสุข' และ 'Fineasy' ซึ่งถูกติดตั้งในเครื่องและไม่สามารถลบออกได้นั้น
ล่าสุดวานนี้ (13 ม.ค.2568) เวลา 13.30 น. ที่ สำนักงาน กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เชิญบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO
และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Realme มาสอบถามข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว โดยมีผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟังด้วย
ช่วงแรกในห้องประชุมนายไตรรัตน์ ได้สอบถามตัวแทนที่เข้ามาชี้แจง ว่า แอปฯกู้เงินดังกล่าวติดตั้งมาตั้งแต่กระบวนการไหน โดยทางผู้บริหาร Oppo ได้ชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษว่า ทั้ง 2 แอปฯ คือ Fineasy และ สินเชื่อความสุขนั้น เป็นการติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนก่อนจำหน่ายมาตั้งแต่โรงงาน เพื่อให้สมาร์ทโฟนมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานในด้านการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือที่ดีขึ้น
ด้านตัวแทน Realme ตอบสั้นๆ ว่า เป็นรูปแบบเดียวกัน ทั้ง 2 แอปฯ ติดตั้งมาก่อนจำหน่ายจากโรงงาน
ส่วนได้มีการขออนุญาตกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่นั้น ทางผู้บริหาร OPPO บอกว่า เท่าที่ทราบ Fineasy ไม่ใช่แอปฯ ด้านการเงิน แต่จะตรวจสอบประเด็นนี้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ตัวแทน Realme ยังบอกว่า ในระดับ Global ทั้ง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือเป็น บริษัทพี่น้องกันแต่ในไทยแยกกันอย่างชัดเจน
ภายหลังการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง กว่า 2 ชม. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สรุปเบื้องต้นว่า จากการฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า ได้สั่งให้ทาง OPPO และ Realme ทำรายละเอียดชี้แจงทุกประเด็นในวันที่ 16 ม.ค.68 นี้
โดยเบื้องต้นในตอนแรก 2 บริษัทขอเวลาในการตรวจสอบและแก้ไข 1 เดือน แต่ กสทช. มองว่าช้าเกินไป ให้รายงานความคืบหน้าภายในวันที่ 16 มกราคมนี้ โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลว่ามีการติดตั้งไปอยู่ในตัวเครื่องเท่าไหร่ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับแอปฯ รวมถึงว่าแอปฯนี้ใครเป็นผู้ให้กู้
ทั้งนี้ สำหรับเครื่องใหม่ที่อยู่ในช็อปกับรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวก็จะไม่มีทั้ง 2 แอปฯแล้ว และให้หยุดจำหน่ายเครื่องที่มีแอปฯ ส่วนที่คนซื้อไปแล้วเปิดใช้บริการไปแล้วทาง 2 บริษัทจะทำลิ้งก์ OTA โดย OTA คือ การอัพเดทเฟิร์มแวร์หรือซอฟต์แวร์ผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งถ้าโทรศัพท์มีการต่ออินเตอร์เน็ตทาง OPPA สามารถที่จะส่งแพ็คเกจเข้ามาที่เครื่องและดาวน์โหลดอัตโนมัติและทำการติดตั้งก่อนที่จะรีบูทเครื่อง แล้วจะกลายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ได้ทันที โดยทั้ง 2 บริษัท จะมีการอัพเดตเฟิร์มแวร์หรือซอฟต์แวร์ผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถลบแอปพลิเคชันได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์
ขณะที่ พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC กล่าวว่า เบื้องต้น OPPO และ Realme ขอเวลาในการตรวจสอบและแก้ไข 1 เดือน แต่ กสทช.มองว่าช้าเกินไป ให้รายงานความคืบหน้าภายในวันที่ 16 มกราคมนี้ และให้ไปรวบรวมข้อมูลว่ามีการติดตั้งไปอยู่ในตัวเครื่องเท่าไหร่
ทั้งนี้ เรามีระยะเร่งด่วน ทำได้ทันที คือ นับจากตอนนี้ เป็นต้นไปสำหรับเครื่องใหม่ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และมีแอปฯดังกล่าว ให้งดจำหน่ายทั้งหมด และหากมีการจำหน่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์แจ้งให้ลบแอปฯทิ้งได้
ส่วนเครื่องที่ยังไม่ได้จำหน่ายและมีแอปฯนี้ติดตั้งแล้ว ทาง PDPC ได้แจ้งแล้วว่าหากมีการจำหน่ายไป ถือว่า ผิดวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้การจัดเก็บข้อมูล เจ้าของข้อมูลแจ้งให้ลบได้ ซึ่งทางบริษัทเองแจ้งกลับมาว่าจะไม่จำหน่าย
พ.ต.อ.สุรพงศ์ กล่าวต่อว่า ในกรณีนี้ ทาง OPPO และ Realme Chaina เป็นผู้คุ้มครองข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมใช้และเปิดเผยข้อมูลลูกค้าซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้นทางกฎหมายก็มีผลบังคับใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลที่อยู่ประเทศจีนโดยหลักการได้แจ้งกับทางตัวแทนของทางบริษัทแล้วว่าจะต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนในประเทศซึ่งรับผิดไม่จำกัด และขอหลักฐานในการแต่งตั้งไปแล้วก็จะรายงานมาพร้อมกันในวันที่ 16 ม.ค.นี้
โดยผู้แทนรับผิดไม่จำกัด คือ ต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือพรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็รับผิด ซึ่งจะมีโทษแพ่งอาญาและปกครอง ซึ่งเป็นทั้งบุคคลและนิติบุคคลได้หมด ถังออปโป้ประเทศจีนต้องแต่งตั้ง และหากไม่ดำเนินการก็จะมีโทษปรับทางปกครอง โดยทาง OPPO และ Realme Chaina ต้องแต่งตั้งขึ้นมา และหากมีความผิด จะมีโทษปรับทางปกครอง 3 ล้านบาท กรรมเดียวเฉพาะเรื่องการแต่งตั้ง ส่วนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หากเจ้าของข้อมูล มีสิทธิ์แจ้งให้ลบได้เช่นกัน เพราะผิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ข้อมูลการใช้และเปิดเผย ความผิดแบบนี้ดูเป็นรายกรณีไป
ส่วนเจ้าของแอปฯ ที่เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ ได้ให้ตัวแทนทั้งสองบริษัทไปตรวจสอบมาว่าเป็นใคร รวมถึงให้ OPPO บริษัทแม่ที่ประเทศจีนไปตรวจสอบแอปฯ ตัวนี้ว่า นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อหรือไม่
ด้าน ตัวแทน OPPO กล่าวว่า พอรู้ข่าวว่ามีการติดตั้งแอปฯ ทางเราได้เร่งแก้ไขเบื้องต้น แอปฯ Fineasy ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่ในเครื่อง ส่วนแอปฯ สินเชื่อความสุขนั้น ได้แจ้งผู้ผลิตให้มีการถอนการติดตั้งโดยเร็ว ส่วนแอปฯ Fineasy เราจะเร่งให้มีการถอนการติดตั้งได้โดยเร็วตามตารางที่จะแจ้งให้ PDPC หรือ สคส. ทราบในวันที่ 16 ม.ค.2567
ส่วนกรณีที่ลูกค้าได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผย ตัวแทน OPPO บอกว่า ทางเราพร้อมปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ และทุกข้อกล่าวหาที่ทางลูกค้าร้องเรียนมา หากประเด็นใดเราสามารถชี้แจงได้เราจะชี้แจงกับ PDPC พร้อมกับแนวทางปฏิบัติ ซึ่ง OPPO เองเรามีเป้าหมาย คือ เราอยากคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นที่สุด
ตัวแทน OPPO กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องโทรศัพท์มือถือที่จำหน่ายอยู่และมีแอปฯดังกล่าวอยู่นั้น ทางเราจะใช้วิธีการอัพเดทซอฟต์แวร์เพื่อถอนการติดตั้ง ส่วนเครื่องเก่าๆ เรากำลังตรวจสอบและทำตารางชี้แจงว่า มีจำนวนกี่เครื่อง และใช้ระยะอัพเดตเพื่อถอนการติดตั้ง ใช้เวลาแก้ไขนานขนาดไหน
ส่วนแอปฯ Fineasy สำหรับเครื่องเก่า หากแก้ไขเรื่องการอัพเดตเรื่องซอฟต์แวร์ถอนการติดตั้งได้แล้ว เราจะส่ง OTA ให้เพื่อกดอัพเดต แล้วไปกด Uninstall หรือ ถอนการติดตั้งได้เลย ส่วนแอปฯ สินเชื่อความสุข สามารถ Un Install หรือถอนการติดตั้งเองได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ฝั่ง OPPO ยังอธิบายอีกว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา แอปฯน่าจะมีฝังอยู่ในตัวเครื่องอยู่แล้วจากการที่ถามจาก OPPO แต่ว่ารุ่นเก่าเลยยังตรวจไม่พบข้อมูลว่าถูกฝังอยู่ในเครื่อง แต่มันอาจจะเกิดจากการอัพเดทเฟิร์มแวร์หรือซอฟต์แวร์ ซึ่งหลังจากอัพเดทไปแล้วก็จะมีแอพ Fineasy เข้ามา
ส่วนที่ไปที่มาของแอปฯเงินกู้นั้น ตัวแทน OPPO กล่าวว่า เราเป็นเพียงจัดจำหน่าย ซื้อมาขายไป เดี่ยวผู้ผลิตจะพูดคุยและขอข้อมูลกับผู้ทำแอปฯ จากนั้นเราถึงไปขอข้อข้อมูลจากผู้ผลิตแล้วนำมาชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนที่มีข่าวว่าพบผู้เสียหายเข้าไปใช้บริการแอปฯ เงินกู้ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นจะเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร ตัวแทนของ OPPO บอกว่าขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง และพร้อมตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมาย
ขณะที่ตัวแทนฝั่ง Realme กล่าวว่า ฝั่ง Realme คำตอบและแนวทางการแก้ไขนั้นเหมือนกันกับฝั่ง OPPO
นอกจากนี้ นายไตรรัตน์ ตอบคำถามเพิ่มเติมประเด็นความกังวลเรื่องข้อมูลหลุด โดยยืนยันว่า ข้อมูลไม่ได้หลุด แต่ข้อมูลอยู่ที่ OPPO ที่ประเทศจีน เมื่อถามย้ำว่า หลายคนกังวลข้อมูลจะหลุดไปถึงแก็งคอลเซ็นเตอร์ นายไตรรัตน์ บอกว่า ทั้ง 2 บริษัท ยืนยันว่ามีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้ให้คำแนะนำถึงประชาชนว่า “จริงๆการป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่เปิดดู”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (14 ม.ค.68) กสทช. จะมีการประชุมหารือกับแบงก์ชาติถึงแนวทางกฏหมาย เพื่อดูว่าจะเอาผิดได้ช่องทางใดได้บ้างหรือไม่
ขณะที่แอปพลิเคชั่นสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก "แบงก์ชาติ "อย่างถูกต้อง มีแค่ 10 รายเท่านั้น ให้บริการจริง 6 ราย ประกอบด้วย
บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด
บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด (แอปฯ ทรู วอเลต)
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท แรบบิท แคช จำกัด – ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/6FYSYa5nP5E
แท็กที่เกี่ยวข้อง กสทช ,แอปกู้เงิน ,แอปสินเชื่อความสุข ,oppo ,realme ,กู้เงินออนไลน์