เศรษฐกิจ

เคาะแล้ว! 'กิตติรัตน์' นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ - 'ศิษย์หลวงตามหาบัว' ยื่นค้าน อัดการเมืองแทรกแซง

โดย nattachat_c

12 พ.ย. 2567

46 views

'สถิตย์' อุบตอบ ตั้ง 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ด ธปท. หรือไม่ ยื่นเพรสให้สื่อ ก่อนชิ่งหนีขึ้นรถทันที หลังประชุมเกือบ 5 ชั่วโมง

วานนี้ 11 พ.ย. 2567 นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ได้ยื่นเอกสาร ที่เตรียมมาด้วยตัวเองให้กับสื่อมวลชน ก่อนที่จะขึ้นรถเดินทางกลับ


โดยในหนังสือ ระบุว่า “ประธานกรรมการคัดเลือกฯ แจ้งว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กระบวนการ คัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ได้เสร็จ สิ้นลงแล้ว และเลขานุการฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป กล่าวคือ กรณีประธานกรรมการฯ จะนำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป”

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 7 คน ประกอบด้วย

1. นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

3. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

4. นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

5. นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

6. นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

7. นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ทั้งนี้ แหล่งข่าวได้เผยว่า นายกิดติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายเสนอ เอาชนะ 2 ตัวแทนจากแบงก์ชาติ ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน คือ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามาดำรงตำแหน่ง ตามโควตาที่คลังเสนอ และ นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นคนที่แบงก์ชาติเสนอ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มี พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ประเทศไทยมี ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ (ธปท.) มาแล้ว 4 คน คือ

  • ม.รว.จัตุมงคล โสณกุล
  • ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
  • นายอำพน กิตติอำพน
  • นายปรเมธี วิมลศิริ 
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง (ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า)

ขณะที่ ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อคัดค้านการคัดเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งเป็นประธาน ธปท. โดยมีใจความว่า

"คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในฐานะประชาชนไทยที่เทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหนือศิรเกล้า ประการสำคัญ ได้เสียสละเงินทองและร่วมปกป้องทุนสำรองปราการด่านสุดท้ายของชาติตามคำเตือนขององค์หลวงตาจนสำเร็จ พวกเราเห็นว่า ธปท.ต้องไม่ถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง มิฉะนั้น จักบังเกิดมหันตภัยร้ายแรงต่อระบบการเงินมั่นคงของชาติให้วินาศไปได้อย่างง่ายดาย เฉกเช่นหลายประเทศที่เคยมั่งคั่งมาก่อน แม้ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า แต่เงินของชาติกลับเสื่อมค่านำพาประเทศให้ตกหล่มลึกแห่งวังวนวิกฤตเศรษฐกิจ"

"คณะศิษย์ฯ ได้ติดตามได้พิจารณาโดยธรรมอย่างปราศจากอคติ จนเห็นพ้องต้องกันไม่ยอมรับ 'นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง' เข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าประธานหรือแม้แต่กรรมการก็ไม่สมควร เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และแสดงตนชัดเจนถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการเมือง เคยให้สัมภาษณ์ แสดงพฤติกรรม และมีเจตคติชัดแจ้งต่อสายตาสาธารณชน ถึงการครอบงำและแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการทำร้าย 'หลักธรรมาภิบาลที่ดี' เป็นการทำลายความเป็นอิสระซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดของ 'ระบบธนาคารกลาง' "

"ในขณะที่คณะศิษย์ฯ ต่างคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โดยสถานภาพแห่งการดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการ ธปท.' และ/หรือ 'กรรมการ ธปท.' นั้น ทุกท่านผู้เสนอตัวต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องดำรงตนเข้มงวดกวดขันเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามกว่าบุคลากรในตำแหน่งอื่นใด ทั้งการณ์กลับเป็นตรงข้าม 'นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง' มีความด่างพร้อยทางด้านจริยธรรม มีพฤติการณ์ 'โกหกสีขาว' (white lies) ซ้ำซาก เพียงเพื่อมุ่งรับใช้การเมือง มิหนำซ้ำ ยังเคยอวดศักดาประกาศว่าจะถอดผู้ว่าฯ ธปท.ให้พ้นไปจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ว่าฯ ธปท.คัดค้านรัฐบาลมิให้เข้ามาล้วง 'ทุนสำรองของชาติ' ไปใช้แบบอีลุ่ยฉุยแฉก เพียงเพื่อสนองนโยบายประชานิยม"

"คณะศิษย์ฯ ขอน้อมนำคำสอนโดยย่อขององค์หลวงตาที่สอดคล้องกับกรณีว่า ความอยากความทะเยอทะยานด้วยอำนาจบาตรหลวงที่เอากฎหมายมาบังหน้า มาบีบบี้สีไฟประชาชนอยู่เบื้องหลัง อย่าเอามาใช้ในเมืองไทยของเรา  เมืองไทยจะล่มจม ให้เอาอรรถเอาธรรมเข้ามาสู้กัน มันถึงผสมกันเป็นความแน่นหนามั่นคงเจริญรุ่งเรืองของชาติ ชาติไทยเรานี้จะสงบร่มเย็นด้วยธรรมนะ… ความเห็นแก่พวกพ้องของตัว… นี่ละมันจะทำลายชาติบ้านเมือง ปัดออกให้หมด… ให้เห็นแก่คนไทยล้วนๆ อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ต่างคนต่างปรึกษาหารือกัน จึงเรียกว่า เราเป็นชาติไทย”

ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิฑูรย์ ลี้ธีระนานนท์ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม เข้ายื่นรายชื่อประชาชน 15,000 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการธปท. เพื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

โดยนายวิฑูรย์กล่าวว่า ตนสนับสนุนนายกิตติรัตน์ให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องของการกู้เงินและการธนาคารที่เป็นธรรมแก่ประชาชน และด้วยประสบการณ์ของนายกิตติรัตน์ในยุคสมัยที่ผ่านมา เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาพอสมควร โดยเฉพาะยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมองว่านายกิตติรัตน์มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะพาเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ส่วนที่มีการคัดค้านโดยระบุว่าเป็นคนการเมือง และไม่อยากให้เข้าไปครอบงำองค์กรนั้น มองว่านายกิตติรัตน์ไม่ได้เป็นคนการเมือง ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ  มาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ฝ่ายหนุนนายกิตติรัตน์ ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น แบงก์ชาติขัดขวางการเงินไทยมากเกินไป ทำให้ GDP ต่ำเตี้ยติดดินมา 10 ปี เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้แต่บอกว่าต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการออกนโยบายการเงินออกมาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ฝ่ายหนุนนายกิตติรัตน์ แบงก์ชาติ ทำให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารเอกชน กับ ดอกเบี้ยแบงก์ชาติ อิสระมากเกินไป ธนาคารต่าง ๆ นั้น มีกำไรสูงมาก ในขณะที่ ปชช.มีหนี้ครัวเรือนของประเทศแตะ 90% ของ GDP ซึ่งแบงก์ชาติ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย 

พร้อมกันนี้ มีหลายคนจับตาว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ จะมีนโยบายเอาหนี้ 1.4 ล้านล้าน จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40 มาโอนไว้ที่แบงก์ชาติ แล้วให้ใช้แบงก์ชาติหนี้เองและ การทำแบบนี้ จะทำให้รัฐบาลได้ลดหนี้สาธารณะ 5% ของ GDP แล้วเอาไปใช้ในนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญได้ 


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/fE99av3WbPo


คุณอาจสนใจ