เศรษฐกิจ
รมว.คลัง มองเศรษฐกิจไทยปี 67 เติบโต 2.7% หวังปีหน้าโตได้ถึง 3%
โดย kanyapak_w
30 ต.ค. 2567
74 views
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานประกาศรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัล ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” โดย 3 กูรูเศรษฐกิจ ได้แก่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย , นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปิดท้ายด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในหัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future”
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างต่ำมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 10 ปี เห็นได้จากตัวเลขอัตราหารขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ
นานพิชัย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ คิดว่ามันควรจะมากกว่านี้ แต่มีน้ำท่วมเข้ามาแทรก ส่วนปี 68 หากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวน่าจะได้ถึง 3% ซึ่ง ผมคิดว่า 3% มันเหมือนกับการอยู่ไปแบบไม่ได้มองว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง เราก็ยอมรับได้ แต่ก็คิดว่า มันควรจะขึ้นไปได้มากกว่านี้ แต่เราอาจจะมองลึกไปถึงตอนที่ขยายตัวได้ถึง 5% เศรษฐกิจมันโตมาในระดับหนึ่ง อาจจะเห็นว่าเรียลจีดีพีที่ 3.5%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยค่าเงินเฟ้อของไทยอย่างต่ำควรอยู่ที่ 2% ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำมาอย่างยาวนาน ก่อนจะมองโอกาสและความท้าทาย ต้องมองดูรอบๆ ว่าวันนี้เราอยู่ในสภาพอะไร และต้องแก้สภาพที่มีปัญหาอยู่ มองเงื่อนไขที่จะเดินไปข้างหน้า มีความพร้อมไหมที่จะเดินไป ถึงจะเรียกว่ามีความท้าทาย และโอกาสจะจับต้องได้หรือไม่
ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เคยอยู่ที่ประมาณ 70-80% ต่อจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันขึ้นมา 90% กว่าต่อจีดีพี และปรับลดลงมาเหลือ 89% โดยตัวเลขที่ลดลงไม่ได้เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นหรือลดลง แต่เพราะจีดีพีขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและภาคเอสเอ็มอี สะท้อนว่า คนที่เป็นกำลังของประเทศหนี้ท่วม
ขณะที่หนี้ของรัฐบาลปัจจุบันอยู่ที่ 65-66% โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงและมีกรอบไว้ที่ 70% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้น
ด้านนโยบายการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ต่ำอีก
นายพิชัย กล่าวว่า คนที่มีหนี้เยอะก็อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ คนให้เงินให้สินเชื่อก็อยากจะได้ดอกเบี้ยสูง ดังนั้นสภาพคล่องจึงหายไปจากตลาด และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพราะไม่มีสภาพคล่อง เราเป็นประเทศที่ก่อนต้มยำกุ้งเราขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งหลังต้มยำกุ้ง เรามีสภาพคล่องเกิน ขณะที่การลงทุนของไทยก็มีการลงทุนน้อย เราจึงตกอยู่ในฐานะที่เรียกว่า เป็นเศรษฐี แต่ไม่มีอนาคต เนื่องจากไทยมีการลงทุนต่ำ ซึ่งแตกต่างจากหลาย 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด แต่ภาระลด โดยหนี้เท่าเดิม หรือลดลงนิดหน่อย แต่ภาระการจ่ายลดลง มีโอกาสที่จะจ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสินดำเนินการมา ใช้จังหวะที่แบงก์แข็งแรงมาช่วย
ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะรถยนต์กระบะ และอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น ปัจจุบันแม้จะมีความสนใจเข้ามาจำนวน แต่ทั้งนี้ต่างชาติที่ต้องการลงทุน ต้องการความยาวนาน การลงทุนสมัยใหม่นี้ หลายแสนล้านบาท การปักหลักฐานเขาจะมาอยู่กับไทยที่มีสัญญาเช่าที่นาน เช่น 99 ปี หากไม่มีสัญญาณให้เช่าขนาดนี้ โอกาสที่จะทำให้การลงทุนนั้นยากขึ้น
“99 ปี คือ ในต่างประเทศ เขาเปิดโอกาสให้ต่างชาติใครอยากซื้อที่ดินก็ซื้อได้เลย ส่วนการเช่า ถ้าจะเอาที่เช่าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของการเช่ายาว เพื่อมีสิทธิ์ในที่ เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่จะนำไปขอกู้กับสถาบันการเงินได้ แสดงว่ามีสิทธิในการใช้ ไปแบงก์กู้ได้ อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปที่ต่างชาติ อย่างที่ดินของรัฐที่เยอะนั้น ก็เอามาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็ให้เช่าในราคาถูกระยะเวลานาน”นายพิชัย กล่าว
แท็กที่เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจ ,รมว.คลัง ,เศรษฐกิจไทย