นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการหารือเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ปี 68 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการ แบงก์ชาติ เมื่อวานนี้ ทั้งกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติต่างมีความเห็นร่วมกันว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม
และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ โดยการใช้เครื่องมือ ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป มาตรการทางการเงินในการแก้หนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ และหากเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจโตขึ้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 “Thailand 2025 : Opportunities, Challenges and the Future” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ถ้าเราสามารถทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 2% GDP ไทยปีหน้าจะโตได้ถึง 3.5% ซึ่งเป็นกรอบบน ที่หอการค้าไทยได้ประเมินไว้ ว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้ 3-3.5% จากการส่งออกที่ไปได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยรัฐบาลกับเอกชน จะต้องจับมือกันหารายได้เข้าประเทศ
ล่าสุดหอการค้าไทยได้ทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตได้ตามกรอบที่คาดไว้ แต่จะไม่ก้าวล่วงเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ยังเหลือการประชุมอีก 1 ครั้งภายในปีนี้
พร้อมเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้รับปากว่า ได้เร่งหารือสถาบันการเงิน ลิสซิ่ง เพื่อแก้ปัญหาการยึดรถประชาชน โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งใช้ทำมาหากิน เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถหาเลี้ยงปากท้อง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากรัฐบาลเข้ามาดูแลส่วนนี้คิดว่าใช้งบประมาณแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนายกรัฐมนตรีจะเร่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วที่สุด
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงจาก จีโอโพลิติกส์ สงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดชนะไทยก็ต้องเตรียมปรับตัวเรื่องของการกีดกันทางการค้า
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่าผู้ประกอบการไทยไม่ควรคิดแข่งขันกับประเทศจีนในเรื่องที่แข่งไม่ได้ หรือแข่งได้ยาก แต่ต้องมองให้เป็นลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนและผลักดันตัวเองให้มีความเป็นเลิศในภูมิภาคหรือในอาเซียน ในเรื่องจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายของโลก