เศรษฐกิจ

เงินหมื่นไม่ช่วย-คนกังวลน้ำท่วม ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.67 ดิ่ง 7 เดือนติด

โดย nattachat_c

11 ต.ค. 2567

189 views

วานนี้ (10 ต.ค. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 'ก.ย. 67' ทุกรายการ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 7 - 22 เดือน (ตั้งแต่ ส.ค. 66)


สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 49.1 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.0
  • ภาคกลาง อยู่ที่ 49.4 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.2
  • ภาคตะวันออก อยู่ที่ 52.1 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.2
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.2
  • ภาคเหนือ อยู่ที่ 49.3 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.7
  • ภาคใต้ อยู่ที่ 48.6 ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.6


โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่

1. สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้บางพื้นที่ของประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร


2. ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน


3. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง


4. ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย โดยเห็นได้ชัดจากดัชนี้ซื้อบ้าน รถ ท่องเที่ยว ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยซึมตัว และยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น


ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ย. ต่ำสุดในรอบ 18 - 22 เดือน หรือแสดงให้เห็นว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจแย่ในรอบ 2 ปี และนโยบายการแจกเงิน 10,000 บาท ก็เหมือนยังไม่เห็นผล เนื่องจากคนยังกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมเป็นหลัก 


นายธนวรรธน์ กล่าวว่า บรรยากาศของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ทาง ม.หอการค้าไทย คงประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.6% ต่อปี แต่ถ้าทางรัฐบาลต้องการ เศรษฐกิจขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี ทาง ม.หอการค้าไทย มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลควรมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี โดยช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือปีใหม่ ควรจะมีมาตรการกระตุ้นอาจนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการชิมช้อปใช้ โครงการคนละครึ่ง สำหรับประชาชนทั่วไป แม้ดูเป็นมาตรการของรัฐบาลก่อนหน้า แต่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ เพียงคงคอนเซ็ปต์มาตรการคูณสอง ที่รัฐบาลจ่ายสมทบอีกครึ่งหนึ่ง และประชาชนเพิ่มเงินใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง จะเป็นแรงส่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก


นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทย ยังจับตาการหารือกรอบเงินเฟ้อ ปี 68 ระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม 67 โดยเชื่อว่าจะมีการหารือก่อนวันประชุม กนง. โดยมีเป้าหมายที่จะปรับขยายกรอบเป็น 1.5 ถึง 3.5% จากปัจจุบันที่ 1 ถึง 3%


แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปรับขยายกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายหรือไม่ ก็มองว่า กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีก 0.25% เพื่อส่วนต่างที่เหมาะสมระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังเฟดปรับลดแล้ว 0.50% และคาดการณ์กันว่าจะลดลงอีก 0.25% ในปีนี้ เพื่อดูแลไม่ให้บาทแข็งค่ามากเกินไป และในระดับดังกล่าวเหมาะสมที่จะยังคงจูงใจให้เกิดการออมภายในประเทศตามที่ ธปท.กังวล เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนับว่าต่ำสุดในอาเซียน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/1y3qISeHe6Y

คุณอาจสนใจ

Related News