เศรษฐกิจ

วอนรัฐ ทำอะไรสักอย่าง! ธุรกิจชามตราไก่ ลำปาง วิกฤต โดนจีนตีตลาด ทำขายใบละ 5 บาท

โดย nattachat_c

14 ส.ค. 2567

97 views

ผู้ประกอบการ ธุรกิจชามตราไก่ ลำปาง วอนรัฐบาล ทำอะไรสักอย่าง หลังโดนสินค้าจีนตีตลาด ทำขายใบละ 5 บาท ก๊อปปี้ตัวไก่เหมือนเป๊ะ โรงงานในไทยใกล้สูญพันธุ์ เหลือไม่ถึง 100 แห่ง


วานนี้ (13 ส.ค. 67) นายปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง เผยว่า หลังจากช่วงธุรกิจการโควิดที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ตลาดเซรามิกในจังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอ ถือว่ากระทบอย่างหนัก และสถานการณ์เริ่มวิกฤตเรื่อย ๆ


กระทั่งล่าสุด 3 เดือน ที่ผ่านมา หรือประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 ตลาดเซรามิกลำปางเริ่มซบเซา หลังจากสังเกตได้ว่าชามตาไก่เซรามิกลำปาง จากเดิมผู้ประกอบการร้านค้าขายในจังหวัดลำปางที่สั่งไปขาย ยอดสั่งชามตราไก่ลดลง เพราะทราบข้อมูลมาว่า มีผู้ประกอบการจากประเทศจีน นำ จาน ชาม สินค้าเซรามิก ส่งเข้ามาที่ไทย มาขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดลำปาง


โดยราคาเซรามิกชามตราไก่ บางทีส่งมาจากจีน ขายส่งเพียงชามละ 5 บาท ส่วนที่ จ.ลำปาง ต้นทุนตกใบละ 20-25


นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง บอกว่า เขาจะดั๊มราคามาแข่งกับบ้านเรา ซึ่งหากธุรกิจเซรามิกผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางปิดตัวไป เขาก็จะผูกขาดเพียงแห่งเดียว และจากนั้นเขาก็จะตั้งราคาที่สูงเพื่อมาขายเอง ซึ่งอาจจะแพงกว่าราคาตลาดปกติ


นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง บอกอีกว่า ธุรกิจร้านเซรามิกเดิมที่มีประมาณ 300 โรงงาน ปัจจุบันเหลือ 89 โรงงานเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก


หากเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่มีมาตรการใดจากรัฐบาลเข้ามาช่วย คิดว่าธุรกิจเซรามิกลำปาง จะต้องกระทบเป็นลูกโซ่แน่นอน กระทั่งแรงงานต่าง ๆ โรงงานผลิตดินขาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปั้นถ้วยชามเซรามิก ก็จะกระทบกันไปอย่างหนัก


ซึ่งขณะนี้โดนซ้ำเติมจากสินค้าออนไลน์ จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากประเทศจีนที่ส่งเข้ามาที่ตลาดในเมืองไทย และถ้วยชามตราไก่นั้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดลำปาง และจังหวัดลำปางก็ใช้ดินขาวที่จังหวัดลำปางผลิตชามเซรามิกต่าง ๆ


ขณะนี้ ประเทศจีนนั้นนอกจากจะทำถ้วยตราไก่เลียนแบบแล้ว ยังทำรูปแบบอื่น ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ควบคุม หรือทางรัฐบาลไม่ออกมาดูแล  ธุรกิจเซรามิกลำปางต้องเจ๊งแน่นอน


ขอวิงวอนรัฐบาลให้ช่วยเร่งแก้ปัญหาแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน จะกระทบอย่างหนักกับลูกโซ่แรงงาน เครื่องจักรวัตถุดิบต่าง ๆ อย่างแน่นอน

-------------

วานนี้ (13 ส.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมสั่งการให้ กระทรวงพาณิชย์ / กระทรวงการคลัง / กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม / กระทรวงสาธารณสุข / กระทรวงอุตสาหกรรม / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเจ้าภาพ ในการมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้า จากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย


โดยให้มีการตรวจสอบการจดทะเบียนการค้า และใบอนุญาตต่าง ๆ รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ เพื่อหาทางสนับสนุน และพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ของไทย สามารถปรับตัว และแข่งขันได้ในตลาดออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งจะมีการเสริมมาตรการภายในสิ้นเดือนนี้

--------------

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งยกระดับการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย สกัดกั้นสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขานรับนโยบาย โดยได้หารือกำหนดมาตรการกำกับมาตรฐานสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับผู้บริโภคในประเทศ นอกเหนือจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออนไลน์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรก


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดมาตรการกำกับมาตรฐานการนำเข้าสินค้าในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์


สำหรับมาตรการกำกับมาตรฐานสินค้านำเข้าในรูปแบบออฟไลน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าในไทย อาทิ การจดทะเบียนพาณิชย์ การจดทะเบียนนิติบุคคล การขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว และการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น


ส่วนมาตรการกำกับมาตรฐานสินค้านำเข้าในรูปแบบออนไลน์ ศุลกากรจะตรวจสอบมาตรฐานสินค้า 10 อันดับแรกที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อทางออนไลน์ และการพิจารณากำกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ในไทย เช่น การกำหนดให้ต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในไทย หรือการจดแจ้งประกอบธุรกิจ


“นายกรัฐมนตรีสั่งการอย่างเคร่งครัดให้พิจารณาควบคุมคุณภาพสินค้าต่างชาติที่เข้ามาขายในประเทศไทยให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อควบคุมผลประโยชน์ของชาติ ให้คนไทยได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ พร้อมให้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยไม่ละเว้น” นายชัย กล่าว

-------------

วานนี้ (13 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ Phumtham Wechayachai ว่า


แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ มีทั้งโอกาสและความท้าทาย


การเข้ามาของ TEMU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เนื่องจาก TEMU เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME


นี่คือ แนวโน้มและทิศทางการค้าของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจ รู้ทัน และ ปรับตัว ในยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ


การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าใหม่โดยเฉพาะ e-commerce ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความตระหนักที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องให้ความสำคัญเพื่อความอยู่รอด และการเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น


ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดๆ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนจาก กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อหารือและพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จาก E – Commerce ทุก platform โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งเข้ามานั้นว่าได้มาตรฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ อาทิ มาตรฐาน มอก.  มาตรฐานของ อย. เป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค


รวมทั้ง ยังพิจารณาถึง การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ


นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน คือการส่งเสริมและสนับสนุน SME ทั้งการพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดใหม่โดยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบุกตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME อาทิ การจัดมหกรรม Live – Commerce ในช่วงเดือนกันยายน โดยให้ Influencer จากต่างประเทศ เข้ามาคัดเลือกสินค้าไทย นำไปจัด Live เพื่อขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีนจำนวนกว่า 500 รายการสินค้า เพื่อทำการซื้อขายดึงเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศ   โดยมีเป้าหมายครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณมากกว่า 1,500 ล้านบาท


การค้าของโลกในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าเมื่อเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในคลื่นของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้อยู่ในสถานะที่มีความสามารถแข่งขันได้  หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ  อันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการค้าในโลกปัจจุบัน


การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติต่างๆ ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยปกป้องดูแลภาคธุรกิจไทย และพิจารณา ให้ครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบและส่งเสริมโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุน SME และการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

-------------

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเข้ามาของสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ในการแข่งขันราคากับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกลงเรื่อย ๆ


โดยสิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งแก้ไขเพื่อผ่อนปรนผลกระทบให้เบาลง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจขาลงทั่วโลก ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่าย อะไรที่มีราคาถูกมาก ผู้บริโภคก็จะหันไปให้ความสนใจ ซึ่งส่งผลการเสียดุลการค้าของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลจะต้องควบคุมการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มข้นที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เข้มข้นในการตรวจสอบการเข้ามาของสินค้าต่างประเทศว่ามีการเสียภาษีชัดเจนหรือไม่ มีคุณภาพได้มาตรฐานของไทยหรือไม่ การเข้ามาเปิดร้านค้าหรือทำธุรกิจในไทย ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีความยุติธรรมที่สุด

-------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/0VfP9jZRrtw






คุณอาจสนใจ

Related News