เศรษฐกิจ

'จุลพันธ์' ยันใช้งบเหลื่อมปีเป็นเรื่องปกติ - 'ศิริกัญญา' ขอไม่ให้คะแนน 'เงินดิจิทัล' ชี้ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง

โดย nattachat_c

25 ก.ค. 2567

51 views

วานนี้ (24 ก.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ถึง 'โครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet' ในคำถามต่าง ๆ ดังนี้   


นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาการจัดการแหล่งเงินงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการได้ ในกรอบงบประมาณที่มีอยู่ โดยไม่กระทบภารกิจอื่นของรัฐ ซึ่งทำได้ทั้งการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การโอนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ตลอดจนการบริหารการคลัง และการบริหารจัดการงบประมาณ


เมื่อถามถึงการใช้งบกลางปี ที่จะสิ้นสุด ก.ย. 67 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กรณีมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายข้ามปีงบประมาณ ก็สามารถดำเนินการได้ ถือเป็นเรื่องปกติ หากได้ทำสัญญาผูกพันไว้แล้วก่อนสิ้นปีงบประมาณ เช่น ในกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อประชาชนกดขอรับสิทธิ์ และรัฐยืนยัน ก็ถือว่าเป็นการผูกพันงบประมาณแล้ว


ด้าน นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้แถลงผลการประชุม กมธ.ฯ ว่า


ประชุมมีการพิจารณาในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการกันเงินไว้เบิกเงินเหลื่อมปี ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีกำหนดการเปิดลงทะเบียน และการจ่ายเงิน อยู่คนละปีงบประมาณ


นายธีระชัย กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงว่า การกันเงินไว้เบิกเงินเหลื่อมปี ต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงิน ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด


ทั้งนี้ เงื่อนไขของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ เมื่อมีผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จะมีการตรวจสอบสิทธิ์ว่า บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของโครงการหรือไม่ ทั้งเรื่องของรายได้ อายุ และเงินฝาก เป็นต้น


และเมื่อผ่านการตรวจสอบสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว จะมีระบบตอบกลับไปยังผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งถือเป็นการเสนอ และการสนอง ที่ทำให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้น  และมีผลทำให้สามารถดำเนินการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้

-------------

สำหรับเรื่อง GDP ที่หลายคนสงสัยว่า 'โครงการดิจิทัลวอลเล็ต' จะช่วยเรื่องนี้อย่างไร 


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า   โครงการดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปี 67 แต่อาจไม่เต็มที่มากนัก เนื่องจากโครงการออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การหมุนเวียนของเศรษฐกิจจากเม็ดเงินในโครงการอาจยังไม่เกิดขึ้นในทันที


แต่ผลที่เห็นได้จริง ๆ จะเกิดขึ้นในปี 68 ซึ่งกระทรวงการคลัง เคยประเมินตัวเลขไว้ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจราว 1.2 - 1.8%

-------------

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้


เมื่อถามเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้ เป็นโครงการที่ไม่สามารถอ้างอิงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นโครงการที่ยังไม่สามารถอ้างอิง จากข้อมูลทางวิชาการใดๆ ได้ ท่ีจะบอกว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรอย่างแน่ชัดได้ เพราะที่ผ่านมา การที่เอาเงินใส่ลงไปเป็นเงินสด นั่นไม่เกิดการหมุนเศรษฐกิจเลย เพราะพบว่ามีการนำเงินไปเข้าบัญชีไว้เฉยๆ แต่โครงการอันนี้ มีการสร้างเงื่อนไขที่ต้องใช้เงิน เอาไปเก็บไม่ได้ มองในมุมกว้างๆ เราสร้างเงื่อนไขให้เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจ


ส่วนคำถามผลกระทบโครงการ นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ยืนยัน กระทรวงการคลังเคยประเมินผลกระทบไว้ อยู่ที่ 1.2 - 1.8% เป็นตัวเลขในกรอบ การเมินต่างๆ ต้องดูลงไปในรายละเอียด ส่วนทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น คำตอบอยู่ที่เงื่อนไขในการเซตให้เงินกลับเข้ามาสู่รายได้ของรัฐบาล การันตีเงินทุกบาทต้องมีรายได้เข้าเป็นภาษีรัฐบาล

------------

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังรัฐบาลแถลงดิจิทัลวอลเล็ต ว่า


เรื่องแรกที่ตนอยากพูด คือผลกระทบกับเศรษฐกิจ หลังจากเกิดพายุหมุนดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เศรษฐกิจจะโตแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาบอกว่าไม่สามารถประมาณการณ์ได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้ แต่จากการที่ตนไปสังเกตการณ์ ในห้องกรรมาธิการงบ 67 เพิ่มเติม หน่วยงานต่างๆ รวมถึง กระทรวงการคลัง ได้ส่งผลรายงานที่จะเกิดขึ้นกับดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้ปรับเป้าหมาย จากเดิมที่บอกว่า 1.2 – 1.8 % ของ GDP เหลือ 0.9 % ของ GDP  /  ส่วนสภาพัฒน์ ก็บอกว่าจะทำให้ GDP ของปี 67 และ 68 โตประมาณ 0.3 %  / ด้านแบงก์ชาติ บอกว่า ปี 67 0.3 % ปี 68 0.2 % รวมทั้งโครงการโต 0.9 % ทั้ง 3 สำนัก ผลออกมาตรงกัน คือกระตุ้นได้ไม่ถึง 1% ของ GDP แน่นอน


อาจเป็นเพราะการปรับลดเป้าหมาย หรือแหล่งที่มาของเงิน พอกลับไปใช้เงินในงบประมาณ อาจจะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีมากพอสมควร


ประเด็นต่อมาที่มองว่าไม่ชัดเจน คือ แหล่งที่มาของเงิน สุดท้ายก็ถามย้ำว่า การบริหารจัดการงบประมาณคืออะไรกันแน่ งบ 68 ก้อนใหญ่หน่อย ถึง 132,000 ล้านบาท นักข่าวก็ถามจี้ว่า ตกลงแล้วบริหารจัดการคืออะไร แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจน บอกว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกงบประมาณเพิ่มเติมอีก เหมือนงบปี 67 หรือจะเป็นการใช้งบกลาง งบเหลือจ่าย สุดท้ายเราก็ไม่ได้ความชัดเจนถึงเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้กับโครงการอยู่ดี


นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ตนเป็นคนพูดเรื่องข้อกฎหมายในการอภิปรายงบรายจ่ายเพิ่มเติม 67 จึงอยากมาอัปเดตให้ทุกคนฟังว่า การประชุมในชั้นกรรมาธิการพูดอะไรกันบ้าง รอบนี้ตนเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ซึ่งในห้องก็มีการถกกันว่างบที่จะใช้เพิ่มเติม จะเป็นเหมือนกับงบรายจ่ายประจำปีทั่วไปที่จะกันเงินเอาไว้แล้วเบิกเหลื่อมปี นำไปเบิกปี 68 ได้ ถ้าปี 67 ใช้ไม่หมดได้หรือไม่


นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า หากใช้งบผูกพันข้ามปีไม่ทัน 30 ก.ย. นี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ไม่ได้ หากเราไม่ได้ข้อสรุปว่ามันใช้ได้จริงหรือใช้ไม่ได้ข้ามปีแบบนี้


นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวถึง ระบบลงทะเบียนว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างกันไปเรียบร้อยแล้วในวันที่ 11 ก.ค. ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือระบบจ่ายเงิน (Payment) ที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นระบบโอเพ่นลูป ธนาคารต่างๆ ต้องสร้างกระเป๋าเงินอีกอันหนึ่งให้อยู่ในแอป เพื่อให้เราได้ใช้ จึงอยากขอดู TOR ว่ามีการกำหนดสเป็ก อย่างไรบ้าง แต่ TOR ก็ไม่สามารถให้ได้ เพราะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดเลือก ต้องเชิญชวนผู้ประกอบการไม่กี่เจ้ามาประกวดราคากัน เราจึงขอดูหนังสือเชิญชวน แต่หนังสือเชิญชวนก็ยังร่างไม่เสร็จ งานนี้จึงไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จทันเวลา เพราะอย่าลืมว่าหลังจากระบบชำระเงินเสร็จ จะต้องส่งตัว Blueprint ไปให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เปิดระบบเชื่อมต่อ จากนั้นต้องส่งให้แบงก์ชาติตรวจสอบอีก 15 วัน 


“จึงเป็นไปได้สูงมากที่ไม่ทันแจกไตรมาส 4 ถ้าระบบนี้ยังไม่เรียบร้อยจนถึงวันนี้ จึงฝากสื่อมวลชนให้สอบถามเรื่องนี้ด้วย แล้วประชาชนจะปลอดภัยกับเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนตรงนี้หรือไม่ เงินดิจิทัลจ่ายไปแล้วจะไปปรากฎในกระเป๋าเงินของประชาชนได้แน่ใช่หรือไม่ ไม่มีปรากฏเงินหล่นเงินหายระหว่างทางใช่หรือไม่” นางสาวศิริกัญญา กล่าว


เมื่อถามว่ารูปแบบการลงทะเบียนที่เปิดให้ลงแบบออนไลน์ก่อนออฟไลน์ จะไปกระตุ้นให้คนซื้อมือถือมาลงทะเบียนหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าเป็นไปได้ เพราะระยะเวลาในการลงทะเบียนแบบใช้สมาร์ตโฟน ค่อนข้างนาน และรัฐบาลคงอยากให้คนลงทะเบียนแบบออฟไลน์น้อยที่สุด ถึงได้มีระยะเวลาให้คนได้ดิ้นรนไปหามือถือมาลงทะเบียน ทั้งนี้ รัฐบาลก็บอกว่าไม่มีสมาร์ตโฟนก็ลงทะเบียนได้ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำอย่างไร บอกแค่วิธีการลงทะเบียนแบบมีสมาร์ตโฟน โดยมีการบ่ายเบี่ยงบอกว่าอุบไว้ก่อน เดี๋ยวคนจะไม่มาลงทะเบียนแบบสมาร์ตโฟน


ผู้สื่อข่าวถามว่าให้คะแนนการแถลงวานนี้เท่าไหร่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ได้ให้คะแนน พร้อมกล่าวว่า วันนี้ตื่นเต้นมากที่มีการแถลงดิจิทัลวอลเล็ต เพราะรอมาตั้งแต่ต้นเดือน แต่พอเมื่อคืนนี้บอกว่าจะแบ่งซอยการแถลงออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นแค่รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน แล้วนายกฯ ไปแถลงทีหลัง เราก็ทราบแล้วว่าไม่น่าจะมีอะไรมากมาย ไม่ได้คาดหวัง ก็ไม่ได้ผิดหวังและไม่ได้ให้คะแนน แต่คาดว่าก็มาในทำนองนี้แหละ ยังไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก แต่พูดไว้แล้วว่าจะแถลงก็ต้องแถลง อะไรมีก็พูดไปก่อน

-------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/vr5g0Xau0vs

คุณอาจสนใจ

Related News