เศรษฐกิจ
ผู้ค้าสลากชี้ 'หวยเกษียณ' กระทบสลากกินแบ่ง ยิ่งทำหวยใต้ดินเฟื่องฟู มอมเมา ปชช.กว่าเดิม
โดย nattachat_c
10 มิ.ย. 2567
99 views
จากกรณีเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 67 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันไทยมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บ ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทย และปัญหานี้ แก้ไม่ได้ด้วยการอัดงบประมาณในรูปแบบเบี้ยคนชราจำนวนสูง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ระบบงบประมาณไม่มีทางรับไหว
กระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบาย 'สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ' หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า 'สลากเกษียณ' หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า 'หวยเกษียณ' ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออม ที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น (สามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง) ดังนี้
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะออก 'สลากขูดแบบดิจิทัล' ราคาใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. / ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) โดย ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
ซึ่งสามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม
รางวัลของ 'ทุกวันศุกร์' กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
รางวัลที่ 1 รางวัลละ 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
รางวัลที่ 2 รางวัลละ 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
“เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก” (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้
นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันนั้นไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ
ซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมากได้ลุ้นมาก และมีเงินออมมาก
ทั้งนี้ นโยบายนี้ อยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย (6 เดือน - 1 ปี) ไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ อย่างแน่นอน แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน การใช้งบประมาณสำหรับดูแลเบี้ยชราสูงถึงปีละหลายแสนล้านบาท แต่หวยเกษียณดังกล่าว ใช้เงินงบประมาณมาดำเนินการ เฉลี่ยเพียงสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นเดือนละ 60 ล้านบาท หรือปีละ 700 ล้านบาทเท่านั้น
และขั้นตอนในการดำเนินการ สามารถทำได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในปี 2568
-----------------
ขณะที่ ผู้ค้าสลากรายย่อยแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยนางสุมาลี บัวระพา แม่ค้าลอตเตอรีจังหวัดเลย กล่าวว่า หากออกมาจริง แผงค้ารายย่อยได้กระทบแน่นอน เพราะการซื้อหวยกองสลาก หากไม่ถูกรางวัล เงินจะหายไปเลย แต่หวยเกษียณยังได้กลับคืนเมื่ออายุ 60 ปี และยังมีโอกาสถูกรางวัลด้วย
นอกจากนี้ หวยเกษียณยิ่งจะทำให้หวยใต้ดินเฟื่องฟู เพราะมีสิทธิลุ้นออกรางวัลทุกอาทิตย์ คนจะหันไปเล่นมากขึ้น หนักกว่าหวยกองสลากที่ 1 เดือนออก 2 ครั้ง จะยิ่งเป็นการมอมเมาประชาชนมากขึ้น
-----------------
วันที่ 8 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีดราม่านโยบาย 'หวยเกษียณ' ว่า รัฐบาลลอกนโยบายมาจากพรรคไทยสร้างไทย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำถามจบ นายกรัฐมนตรีนิ่งสักครู่พร้อมยิ้ม ก่อนจะกล่าวว่า “ก็ไปดูเรื่องของโซเชียลมีเดียฟุตปรินต์ก็แล้วกัน ตนไม่อยากมาเถียงเป็นวาทกรรม ผมว่าเราก้าวข้ามตรงนั้นไปดีกว่า รัฐบาลผมจัดตั้งได้แล้ว ตรงนี้เป็นอะไร ถ้าพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ เรามาโฟกัสตรงนี้ดีกว่า นโยบายหลักอย่างที่บอกไป มันมีรายละเอียดเยอะแยะที่ต้องทำ ผมคิดว่าไปโฟกัส และเอาพลังงานของพวกเราทุกคนว่ารายละเอียดที่จะออกมา ทำอย่างไรถึงจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้ดีที่สุดตรงนั้นดีกว่า”
เมื่อถามว่า นโยบายหวยเกษียณค่อนข้างโดนใจประชาชน และอยากให้ทำเร็วขึ้นกว่าไทม์ไลน์เดิม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำให้เร็วขึ้นในส่วนนี้ ยังไม่ได้ไปดู
แต่วันนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยืนอยู่ข้าง ๆ กัน หวังว่าคงจะได้ยินคำถามนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ก็มีเรื่องต้องเรียงลำดับความสำคัญมากมาย และก็ถูกกดดัน ซึ่งตนก็เข้าใจ และเชื่อว่าท่านเองก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ และทำให้เร็วขึ้น
-----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/meyEia6cvGE