เศรษฐกิจ

ตำรวจจะโอนเงิน 2 หมื่น แต่กดเบอร์ผิด สาวกดเงินไปใช้ อ้างไม่ได้ทำไรผิด ท้าอยากได้คืนก็ไปฟ้องเอา

โดย nattachat_c

29 พ.ค. 2567

124 views

ร.ต.ท.รองสารวัตรสืบสวน เจอกับตัว หลังโอนเงิน 20,000 บาท ผ่านระบบพร้อมเพย์ แต่กดเบอร์ผิด ตัวเลขหลังตัวเดียว เจ้าของบัญชีสาวที่ได้เงินโอน กดไปใช้แล้ว พร้อมท้าให้ไปฟ้องเอาเอง

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 28 พฤษภาคม 67 ร.ต.ท.มิตรชัย นาคแก้ว รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ช่วยราชการงานปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ไพศาล วีรกิจพาณิชย์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เพื่อให้ช่วยติดตามเงินจำนวน 20,000 บาท ที่ตนเองโอนผิดบัญชี ไปเข้าบัญชีของผู้หญิงคนหนึ่ง หลังจากนั้นตนได้มีการโทรไปหาผู้หญิงรายนี้เพื่อขอให้โอนเงินคืน ปรากฏว่าทางเจ้าตัวปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเงินเข้ามา ถ้าอยากได้ก็ไปฟ้องเอาเอง

ทั้งนี้ ตนเองได้ทำบัญชี LINE ไว้กับทาง LINE BK วงเงินกว่าแสนบาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน ต้องการใช้เงินจำนวนนี้ ทาง LINE BK จึงได้โอนเงินมาเข้าบัญชีกสิกรไทยของตน ซึ่งผูกไว้กับพร้อมเพย์เป็นเลขโทรศัพท์มือถือของตนเองคือ 081-xxx-1568 ตนจึงได้ทำการโอนเงินในบัญชีจาก LINE ของ BK มาเข้าหมายเลขบัญชีซึ่งผูกติดกับเบอร์โทรศัพท์ของตนเอง แต่ปรากฏว่าขณะนั้นตนรีบเนื่องจากกำลังขับรถ และได้กดหมายเลขมือถือของตนเองผิดตัวหลังไป 1 ตัว โดยกดไปที่หมายเลข 081-xxx-1560 ผิดจากเลข 8 เป็นเลข 0

ต่อมาตนตรวจสอบว่า เงินจำนวนดังกล่าวที่โอนผิดไปนั้นไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของ น.ส.ปวีณา แป้นกลม อายุ 36 ปี จึงได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามไป ซึ่งนางสาวปวีณานั้น แบ่งรับแบ่งสู้พูดจาอ้ำๆ อึ้งๆ ปฏิเสธว่าไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวโอนเข้ามา ตนพยายามชี้แจงยืนยันและบอกไปว่า ทางธนาคารให้ข้อมูลรายละเอียดกับตนมาหมดแล้วว่าเป็นบัญชีของเขา ทางปลายสายจึงพูดจาแบบดุดันใส่ตนว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร ถ้าอยากได้เงินก็ไปฟ้องเอา

หลังจากนั้นตนได้ติดต่อไปที่ธนาคาร แล้วพบว่า นางสาวปวีณา ได้กดเงินในบัญชี

วันที่ 27 เมษายน 5,000 บาท

วันที่ 4 พฤษภาคม 5,000  บาท

วันที่ 9 พฤษภาคม 500 บาท

และวันที่ 12 พฤษภาคม อีก 1,000 บาท

รวมเป็นเงินที่กดออกไปทั้งสิ้น 11,500 บาท ยังเหลือเงินในบัญชีอีก 8,500 บาท ที่ทางธนาคารอายัดไว้ทัน

จนกระทั่งก่อนมาแจ้งความ ตนพยายาม ติดต่อนางสาวปวีณา แต่ปรากฏว่าเขาบล็อกเบอร์มือถือของตนเองทันที  ตนเองเชื่อแน่ว่าเขามีเจตนาต้องการโกงเงินที่ตอนโอนผิดในครั้งนี้ ทั้งๆที่ตนบอกว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนแต่เขาก็ไม่รู้สึกเกรงกลัวหรือเกรงใจ ตนจึงต้องเข้าแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับเขา แต่ถ้าหากเขา สำนึกและยินดีคืนเงินให้ตนก็จะไม่เอาเรื่อง ไม่อยากให้เขาฉวยโอกาสทำแบบนี้กับคนอื่น

ทางด้าน พันตำรวจโทไพศาล เจ้าของคดีที่รับแจ้งความ กล่าวว่า หลักฐานเอกสารต่างๆที่หมวดมิตรชายนำมาแสดงสามารถเอาผิดกับนางสาวปวีณาได้ ทางตนจะออกหมายเรียกให้มาพบ หากหมายเรียกแจ้งไปแล้วไม่มาพบ 2 ครั้ง ก็จะดำเนินการออกหมายจับนำตัวมาดำเนินคดีทันที

-----------------------------------

แบงก์ชาติแนะวิธี โอนเงินผิดต้องทำอย่างไร

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความเรื่อง “โอนเงินผิดบัญชี เกิดเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร?” ระบุว่า

เมื่อมีการโอนเงินผิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโอนที่สาขาของธนาคาร ทางตู้ ATM หรือ mobile banking ธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทาง เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยสามารถแบ่งการโอนเงินผิดได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน

ถ้าเราโอนผิด


หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีคนอื่น ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักกันก็สามารถพูดคุยเพื่อขอให้เขาโอนเงินคืนกลับมาให้เราได้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา อย่างแรก เมื่อเรารู้แล้วว่าเราโอนเงินไปผิดบัญชี ให้เราไปติดต่อธนาคารของเรา (ธนาคารต้นทาง) เพื่อสอบถามว่าธนาคารต้องการเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากแต่ละธนาคารอาจใช้เอกสารไม่เหมือนกัน

สิ่งที่เราสามารถเตรียมได้ เช่น ข้อมูลวันเวลา จำนวนเงิน ช่องทางการโอนเงิน ถ้าทำรายการที่ตู้ ATM ก็อาจจะเก็บสลิปใบบันทึกรายการไว้ แต่หากทำผ่าน mobile banking ก็เก็บ e-slip โอนเงินไว้ รวมทั้งอาจจะเตรียมหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะขอ เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือหากเป็นการโอนเงินผิดไปต่างธนาคาร ธนาคารบางแห่งอาจร้องขอใบแจ้งความเป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

เมื่อธนาคารรับแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้วก็จะแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้เราทราบ และจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อบัญชีปลายทางเพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป ถ้าผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน ธนาคารก็จะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเรา แต่ถ้าผู้รับโอนไม่ยินยอมคืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ เราสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนดำเนินการอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเขาโอนผิด

กรณีที่มีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราซึ่งจะคล้ายกับกรณีที่แล้ว คือถ้าเป็นคนรู้จักกัน ได้พูดคุยกันแล้วพบว่าเขาโอนเงินผิดมาจริง เราก็สามารถที่จะโอนเงินคืนเจ้าของบัญชีได้เลย แต่ถ้าไม่รู้จักกัน ทางที่ดีเราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบก่อน ถ้าพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี

สิ่งที่พึงระวังคือ เราไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บัญชีม้า” ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหน ๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน กลายเป็นว่าเราทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ

แต่ถ้าหากมีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราจริงโดยไม่ใช่กลโกงของมิจฉาชีพ แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือนำเงินที่ได้มาไปใช้ เจ้าของเงินก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เช่นกัน

วิธีการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนจะต้องดู คือ หมายเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี ชื่อธนาคาร และจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนที่จะกดยืนยันการโอนเงินไป หากเกิดกรณีโอนเงินผิดขึ้นมาจริง ๆ ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อใครง่าย ๆ จนยอมโอนเงินกลับเอง และควรรีบปรึกษาธนาคารเพื่อให้ธนาคารแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรจะดีที่สุด


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/1jdhODCQaqE

คุณอาจสนใจ

Related News