เศรษฐกิจ

"กาตาร์" คว้าแชมป์สนามบินดีที่สุดในโลก โค่นแชมป์ 12 สมัย "สิงคโปร์" สุวรรณภูมิ คว้าอันดับ 58

โดย paranee_s

18 เม.ย. 2567

375 views

โดยการประกาศรางวัล "Skytrax World Airport Awards 2024" ของบริษัทสกายแทร็กซ์ (Skytrax) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับสายการบินและสนามบินทั่วโลก จากการสำรวจความพึงพอใจของบรรดาลูกค้าที่ใช้บริการสนามบิน พบว่า สนามบินฮาหมัด อินเทอร์เนชันแนลของกาตาร์ คว้าแชมป์สนามบินดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 โค่นแชมป์เก่า สนามบินชางงีของสิงคโปร์ ที่เคยครองแชมป์มาถึง 12 ครั้ง


ขณะที่สนามบินฮ่องกง พุ่งขึ้นถึง 22 อันดับ สู่อันดับที่ 11 ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจำนวนผู้โดยสารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น


ส่วนสนามบินสหรัฐฯ ร่วงหลุด Top 20 โดยสนามบินซีแอตเทิล-ทาโคมา (Seattle-Tacoma) หล่นจากอันดับ 6 ไปอยู่ที่อันดับ 24 ในปีนี้ เช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิของไทย ที่ไม่ติดอยู่ใน TOP 20 จาการจัดอันดับในปีนี้ อยู่ในอันดับที่ 58 ไต่ขึ้นมาจากอันดับ 68


ขณะที่สนามบินหลายแห่งในยุโรปยังคงทำผลงานแข็งแกร่ง โดยสนามบินปารีส ชาร์ล เดอ โกล (Paris Charles de Gaulle - CDG) , สนามบินมิวนิก, สนามบินซูริค และสนามบินอิสตันบูล ต่างก็สามารถเกาะกลุ่มกันอยู่ในอันดับ Top 10


สำหรับ 20 อันดับสนามบินที่ได้รับรางวัล World’ s Best Airports of 2024 มีดังนี้

-1. ฮาหมัด อินเทอร์เนชันแนล กาตาร์ ขึ้นมาจากอันดับ 2

-2. ชางงี สิงคโปร์ ร่วงจากอันดับ 1

-3. อินชอน เกาหลีใต้ ขึ้นมาจากอันดับ 4

-4. ฮาเนดะ ญี่ปุ่น ร่วงจากอันดับ 3

-5. นาริตะ ญี่ปุ่น ขึ้นมาจากอันดับ 9

-6. ปารีส ชาร์ล เดอ โกล ฝรั่งเศส ร่วงจากอันดับ 5

-7. ดูไบ กาตาร์ ขึ้นมาจากอันดับ 17

-8. มิวนิก เยอรมนี ร่วงจากอันดับ 7

-9. ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ร่วงจากอันดับ 8

-10. อิสตันบูล ตุรกี ร่วงจากอันดับ 6

-11. ฮ่องกง ฮ่องกง ขึ้นมาจากอันดับ 33

-12. ฟีอูมิชิโน อิตาลี ขึ้นมาจากอันดับ 13

-13. เวียนนา ออสเตรีย ร่วงจากอันดับ 11

-14. สนามบินเฮลซิงกิ-วันตา ฟินแลนด์ ร่วงจากอันดับ 12

-15. มาดริด-บาราฆัส สเปน ร่วงจากอันดับ 10

-16. เซนแทรร์ นาโกยา ญี่ปุ่น อยู่อันดับเดิม 16

-17. แวนคูเวอร์ แคนาดา ขึ้นมาจากอันดับ 20

-18. คันไซ ญี่ปุ่น ขึ้นมาจากอันดับ 15

-19. เมลเบิร์น ออสเตรเลีย อยู่อันดับเดิม 19

-20. โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ร่วงจากอันดับ 14


ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เปิดเผยว่า เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบิน ได้ประกาศสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’ s Best Airport) ประจำปี 2024 ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ติดอันดับที่ 58 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 68 โดยขึ้นมา 10 อันดับจากปี 2023


โดยอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ได้รับการประเมิน 4 ดาว จากด้านสถาปัตยกรรม ความสะอาด บรรยากาศโดยรวม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสายการบินในการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS)


นอกจากนี้ ทสภ. ได้ปรับปรุงกระบวนการ ณ จุดตรวจค้น และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้สามารถลดระยะเวลารอของผู้ใช้บริการลง โดยระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 26 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 55 นาทีต่อคน)


ขณะที่กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 35 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน)


ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’ s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก ภายใต้การสำรวจที่ชื่อว่า World’ s Airport Survey จัดทำโดยบริษัท Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการบินชั้นนำของประเทศอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์คุณภาพการให้บริการของสายการบินและสนามบินทั่วโลก โดยคำนึงถึงหมวดการให้บริการสนามบิน เช่น การเดินทาง สภาพแวดล้อมและการออกแบบ เจ้าหน้าที่สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เป็นต้น


ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ