เศรษฐกิจ

'สุริยะ' จี้ผู้รับเหมาพระราม 2 ปักเดดไลน์ จบงานปี 68 ขู่ล่าช้า โดนลดชั้น-ขึ้นบัญชีดำ-ยกเลิกสัญญาผู้รับเหมา

โดย petchpawee_k

5 มี.ค. 2567

39 views

สุริยะ เปิดสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างพบนถนนพระราม 2 พบมี 3 โครงการ 16 สัญญา ขู่ ผู้รับเหมาก่อนปักเดดไลน์จบงานปี 2568 หากล่าช้า โดนลดชั้น ก่อนรุดลงพื้นที่ตรวจสอบ  


วานนี้ (4 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีประชุมร่วมกับกรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และผู้รับเหมาก่อสร้างเส้นทางถนนพระราม 2 ซึ่งใช้เวลาการประชุมร่วมกันกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นนายสุริยะ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุม ระบุว่า ตามที่ได้มอบหมายให้ ทล. และ กทพ. เชิญผู้รับเหมาที่มีสัญญาก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มาหารือถึงอุปสรรคปัญหาจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และเร่งรัดทุกโครงการฯ และทุกสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้


ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงได้เชิญ ผู้รับเหมาที่มีสัญญาบนถนนพระราม 2 ใน 3 โครงการฯ รวมทั้งหมด 16 สัญญา มาหารือถึงแนวทางและกำหนดมาตรการ รวมถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ประกอบด้วย


1) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย กทพ. จำนวน 2 สัญญา  ซึ่งความคืบหน้าการก่อสร้างพบว่าเร็วกว่าแผน 10% และจะก่อสร้างเสร็จ เดือนมิถุนายน 2568


2) โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย รับผิดชอบโดย ทล. จำนวน 3 สัญญา  ซึ่งความคืบหน้าการก่อสร้างพบว่าช้ากว่าแผน 10% และจะก่อสร้างเสร็จ เดือนพฤศจิกายน 2567 และ


3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดย ทล. จำนวน 11 สัญญา  ซึ่งความคืบหน้าการก่อสร้างพบว่าช้ากว่าแผน11% และจะก่อสร้างเสร็จ เดือนมิถุนายน 2568 


นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ผู้รับเหมาได้รายงานถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง อาทิ ส่วนใหญ่การก่อสร้างโครงการอยู่ใกล้กับชุมชนหลายหลังคาเรือน จึงต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับพื้นที่การก่อสร้างมีจำกัด รวมถึงการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น อุโมงค์ใต้ดิน สายไฟฟ้าใต้ดิน สายสื่อสาร เป็นต้น


จึงทำให้การก่อสร้างมีความล่าช้า แต่ในขณะนี้ผู้รับเหมาได้แก้ไขทุกปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น จะพิจารณาแผนขยายระยะเวลาในการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะวันจันทร์ - ศุกร์ ในช่วงที่การจราจรน้อยกว่าปกติ และจะมีการเบี่ยงการจราจรหรือสลับช่องจราจร เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่เร็วขึ้นนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และการจราจรต้องไม่ติดขัด


นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากนโยบายและมาตรการดังกล่าว ได้แจ้งไปยังผู้รับเหมาว่า หากผู้รับเหมารายใด ไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาที่กำหนด หรือภายในเดือนมิถุนายน 2568 จะมีการตักเตือน รวมถึงพิจารณาลดชั้นผู้รับเหมาที่ขึ้นบัญชีกับกรมบัญชีกลาง จากชั้นพิเศษลดลงเป็นชั้น 1 ซึ่งจะมีผลต่อการรับงานครั้งถัดไป โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น มีผู้รับเหมาหลายรายเลื่อนชั้นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีรายใดตกชั้น ซึ่งหลังจากนี้ผู้รับเหมาทุกราย ต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานและมุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้ จากการประชุมมีมติให้ ผู้รับเหมากลับไปปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกำชับให้จัดระเบียบการทำงาน เช่น ของกองข้างทาง การติดป้ายบอกทาง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งทางการจะหารือเพื่อขยายเวลาให้บริษัทรับเหมาได้ทำงานเพิ่มมากขึ้น เช่น ในช่วงวันอังคาร ถึง วันศุกร์ที่การจราจรไม่หนาแน่น โดยจะต้องรายงานความคืบหน้าเป็นรายเดือน พร้อมกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลที่จะติดตามงานในแต่ละสัญญา ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะประชุมเพื่อเร่งรัดโครงการทุก 2 เดือน


สำหรับปริมาณการจราจรเส้นพระราม 2 ปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 256,000 คัน ช่วงดาวคะนองถึงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รวม 11 กิโลเมตร มากสุดในประเทศไทย หลังจากนั้นจะลดลงมาช่วงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน เหลือ 130,000 คันต่อวัน อย่างไรก็ตามในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ยอมรับว่าพีคถึง 400,000 คันต่อวัน


ต่อมาช่วงบ่าย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างบนถนนพระราม 2


โดยจุดแรก สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ซึ่งเดิมทีสะพานพระราม 9 มีการจราจรติดขัด จึงเกิดโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานขึ้น ซึ่งจะเปิดใช้การได้เต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อข้ามไปลงสุขสวัสดิ์ จะทำให้การจราจรลื่นไหล ก่อนจะสร้างเส้นทางเชื่อมต่อไปยังดาวคะนอง ประมาณการว่า สะพานคู่ขนานแห่งนี้จะสามารถระบายรถได้ 30% คือจากเดิมมีรถสัญจรที่สะพานพระราม 9 ถึงวันละ 1 แสนคัน จะเหลือ 7 หมื่นคัน พร้อมเน้นย้ำว่า การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จะแล้วเสร็จภายใน มิถุนายน 2568 โดยกำหนดมาตรการให้ผู้รับเหมาได้ดำเนินงานตามสัญญา


จากนั้น ได้เดินทางต่อที่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ทางหลวงหมายเลข 35 กม. 10 ขาออก และ กม.16 ซึ่งเป็นคอขวด ที่ทำให้การจราจรค่อนข้างชะลอตัว นายสุริยะ และคณะ ได้เดินขึ้นไปบนสะพานลอย เพื่อดูภาพรวมของการจราจร และการก่อสร้างโดยบางช่วงเจ้าหน้าที่ได้อธิบายถึงโครงการก่อสร้าง และสำรวจปัญหาการจราจร ซึ่งบางช่วงนายสุริยะ ยกโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพการจราจร และโครงการก่อสร้างไว้


นายสุริยะ อธิบายว่า ตรงจุดที่มาตรวจนี้เป็นจุดบางขุนเทียน ซึ่งในจุดนี้จะมีส่วนที่รับผิดชอบ โดยมีสองโครงการอยู่ที่นี่ คือกรมทางหลวง กับการทางพิเศษ แล้วจุดนี้จะเป็นจุดที่เชื่อมโยงกับวงแหวนตะวันตก


 แต่เฉพาะช่วง 1 กิโลเมตรนี้ จะให้การกรมทางหลวงสร้างให้เสร็จ ในเดือนพฤศจิกายน 67 ก็จะทำให้การจราจรในจุดนี้โล่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งตนได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัด เพราะฉะนั้นส่วนไหนที่เสร็จได้ก่อน ก็จะขอร้องให้ผู้รับเหมาเร่งสรรพกำลัง


โดยการลงพื้นที่มาดูพื้นที่ เพื่อพยามเร่งว่า ตรงไหนจะเสร็จได้ก่อน และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญก็จะเร่งให้เสร็จก่อน  ส่วนเมื่อเช้าที่ทางท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีการเรียกให้อธิบดีกรมบัญชีกลางไปพบก่อนเดินทางไปต่างประเทศนั้น ทางนายสุริยะ ระบุว่า นายกฯ ก็ได้กำชับว่า ตอนนี้ผู้รับเหมาเวลาทำช้ากว่าสัญญา มาตรการที่ผ่านมา ถ้าไม่มีมาตรการเข้มข้น ทางผู้รับเหมาก็จะสามารถต่อสัญญาไปเรื่อยๆ แล้วทำไม่เสร็จ ทางนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการพูดกับกรมบัญชีกลาง ว่าถ้าผู้รับเหมารายใดที่มีผลงานล่าช้า และไม่เสร็จ ก็จะมีการลดชั้นผู้รับเหมาลง จากชั้นพิเศษ ก็จะเหลือชั้นหนึ่ง


เมื่อถามว่า ครั้งที่ 2 ของการกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกลับมาที่ถนนพระรามสอง เป็นอย่างไร นายสุริยะบอกว่า ก็ตามกาลเวลาที่ผ่านไป การจราจรก็เพิ่มขึ้น มากกว่าเดิมเยอะ เพราะฉะนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น    


สำหรับประเด็นล่าช้า ปัญหาที่ล่าช้าของการก่อสร้าง 1 เกิดจากปัญหาโควิด สัญญาเดิมในพระราม 2 จะต้องเสร็จตอนปลายปีนี้ 67 แต่เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้ให้มีการขยายสัญญากับผู้รับเหมาไปถึงกลางปี 68 เนื่องจากโควิด พอมีการขยายไปก็มีการล่าช้าไปจากเดิม เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ปี 68 จะไม่มีการเลื่อนไปอีก


ทางกระทรวงก็ได้พยามคุยกับทางผู้รับเหมาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ที่ทางกระทรวงจะเข้าไปดูแลได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับเหมาต้องทุ่มเทให้เต็มที่ หากไม่ทุ่มเทก็จะต้องใช้มาตรการการปรับเกรด


นอกจากนี้ ปัญหาการล่าช้าอีกส่วน ก็สืบเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมา ซึ่งกรมทางหลวงเลยได้สั่งให้ผู้รับเหมาทำได้เฉพาะช่วงกลางคืนไม่กี่ชั่วโมง แต่ผู้รับเหมาตามสัญญาเดิมสามารถทำได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งพอมีการขอร้อง ก็ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างน้อยลง และทำให้ล่าช้า แห่ตอนนี้ได้คุยกับอธิบดีกรมทางหลวงแล้วว่าจะสามารถทำอย่างไรให้เพิ่มเวลาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น และปลอดภัย



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/W0a33ih17lA

คุณอาจสนใจ

Related News