เศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันไม่ลดดอกเบี้ย ไม่เรียกประชุมพิเศษ - สภาอุตฯ ชี้ดอกเบี้ยไทยสูงกว่าอาเซียนมาก

โดย nattachat_c

22 ก.พ. 2567

64 views

Nikkei Asia เผยบทความสัมภาษณ์พิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.5% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ


“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า”


ทั้งยังบอกว่า ความสัมพันธ์ของตนกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ามีความ ‘เป็นมืออาชีพ’ และ ‘จริงใจ’ แต่ปฏิเสธเห็นตรงกับนายกฯ ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ‘วิกฤติ’


และย้ำว่า “การฟื้นตัว (เศรษฐกิจไทย) ยังอ่อนแอ แต่ก็ยังมีอยู่ และกำลังดำเนินต่อไป”


"แม้แรงกดดันจากรัฐบาลทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เป็นความตึงเครียด ‘เชิงสร้างสรรค์’ ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากการสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันไม่ได้ เพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย”


ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะไม่แทรกแซงความอิสระของธนาคารกลาง แต่ได้สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตลอดว่าต้องการให้แบงก์ชาติเห็นใจประชาชนที่กำลังประสบปัญหา


โดยผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า “พวกเขา (ประชาชน) กำลังประสบกับความเจ็บปวดอย่างมาก เพราะรายได้ไม่เติบโตตามที่เราต้องการ แต่เรารู้สึกว่าวิธีที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นคือการใช้มาตรการที่ตรงเป้าหมาย”


สำหรับประเด็นหนี้ครัวเรือน ดร.เศรษฐพุฒิ ตอบว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน กระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง “ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในการพยายามลดการก่อหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”

------------------

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2566 ว่า ได้มอบหมายให้กองทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ 114 แห่ง ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 5 ล้านล้านบาท ช่วยเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 1-2 ของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้


นายกฤษฎากล่าวว่า และในวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ ) จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของหน่วยงานราชการทุกกระทรวง และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน และจัดทำตารางการเบิกจ่ายให้ชัดเจนตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ


“การกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบนั้น นอกจากกระตุ้นการเบิกจ่ายของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจแล้ว ต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วย ซึ่งต้องหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่วนมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์อัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือแอลทีวี เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ​ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด ฉะนั้นฝากไปกระตุ้น ธปท.ด้วย และหวังว่า ธปท.จะใจอ่อน” นายกฤษฎากล่าว

--------------

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสม โดยเห็นว่าข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จากองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ผ่านกระทรวงการคลัง อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น เนื่องจาก (1) เกณฑ์ LTV ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจากข้อมูลพบว่าเกือบร้อยละ 90 ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV และสามารถได้รับวงเงินกู้ที่ร้อยละ 100 อยู่แล้ว นอกจากนี้ เกณฑ์ LTV ปัจจุบันของไทยที่ร้อยละ 90-100 สำหรับสัญญาแรกมีความผ่อนปรนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ เกณฑ์ LTV ของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์อยู่ที่ร้อยละ 50-70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 ตามลำดับ

--------------

วานนี้ 21 ก.พ. 67 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับ 2.5% ว่า อยากเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันระดับ 2.5% ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง และยังไม่มีกลไกกำกับดูแลว่าควรจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างเงินกู้ไทยเทียบกับประเทศอาเซียน ของไทยถือว่าสูงกว่ามาก ดังนั้นอาจต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสม


“ไม่ก้าวล่วงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อยากจะขอร้องให้ช่วยกลับไปดู เพราะประเทศเพื่อนบ้านขึ้นดอกเบี้ยเฉลี่ยน้อยกว่าไทย ดังนั้นจึงยังมีประเด็นอื่นที่ต้องดู อาจขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการของธนาคาร และอาจต้องดูทั้งระบบ จึงอยากให้รีวิวเรื่องนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องปรับลงมากเหมือนสิงคโปร์”
--------------

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า นับเป็นประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่น่าติดตาม ระหว่างรัฐบาลที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ กับแบงก์ชาติที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านทิศทางดอกเบี้ยมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ


และบอกว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หากหวังพึ่งพาดอกเบี้ยนโยบาย การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25 หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤตการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยเช่นนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง


“ผมมองว่าหนทางแก้เกมที่ดีที่สุดคือ ประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ตอนนี้เหมือนเรากำลังดูทีมฟุตบอลที่กองหน้าเขี่ยบอลให้กองหลังวิ่งขึ้นมาทำประตู อาจเพราะมีผู้เล่นบาดเจ็บ (งบประมาณยังไม่ออกจนเดือนพฤษภาคม) แต่กองหลังก็ไม่ขยับมาเล่นกองกลาง ยังเตะบอลให้กองหน้า เพราะห่วงรักษาประตู (เน้นดูแลเสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจ) คนดูก็เชียร์กันไปคนละข้าง เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะเดินหน้าได้ คงต้องหาทางแก้เกมกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อประสานผู้เล่นในทีมนี้”

-----------------



คุณอาจสนใจ

Related News