เศรษฐกิจ

'เศรษฐา' ชี้เงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 35 เดือน สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแอ - 'ภูมิธรรม' ยันเดินหน้าเงินดิจิทัล ช้าไม่ได้

โดย nattachat_c

6 ก.พ. 2567

137 views

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค. 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2566 มีอัตราลดลง 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน


โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวด ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.13% ตามการลดลงของราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และค่ากระแสไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจานราคาลดลง


ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.06 %ตามการลดลงของของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง ผักสด เช่น มะเขือ มะนาว แตงกวา และผลไม้ เช่น ส้มเขียวหวาน ลองกอง มะม่วง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก


“เงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 4 แล้ว และยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ โดยไตรมาส 1 อาจจะติดลบ 0.7% แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นผลจากมาตรการแทรกแซงราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าของรัฐบาล รวมผักสด และเนื้อหมูยังมีราคาลดลงมาก ขณะที่ฐานราคาเดือนม.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนม.ค. 2567 ซึ่งมีการตัดปัจจัยราคาน้ำมันและอาหารสด ยังมีอัตราเป็นบวก 0.52% ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างทรงตัวไม่ผันผวน”


นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะพลิกขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มาตรการพยุงราคาพลังงานและไฟฟ้าจะสิ้นสุด โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ทั้งปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง -0.3 – 1.7% โดยมี ค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง


อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธ.ค. 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.83% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข คือ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย


โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าของไทยสูงขึ้นเพียง 1.23% อยู่ระดับต่ำอันดับที่ 9 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของหลายประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวจากปี 2565 ค่อนข้างชัดเจน

-------------

วานนี้ (5 ก.พ. 67)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตถึงปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้ โดยระบุว่า


การที่เงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ จะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำคงจะแก้ปัญหาได้ยาก


ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67  ติดลบ 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน มองแนวโน้มเดือน ก.พ. ยังลดลงต่อเนื่อง คาดเงินเฟ้อไทยปี 67 อยู่ที่ 0.7%

-------------

วานนี้ (5 ก.พ. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมกราคม ลดลง 1.11% และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ว่า


เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงวิกฤติ และยังไม่เคยขึ้นมาจากจุดที่เคยเป็น ซึ่งถือได้ว่า ประเทศยังมีวิกฤติอยู่หลายเรื่อง


สิ่งที่น่ากังวล คือ วิกฤติทางการเงิน ซึ่งเคยเกิดวิฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบต่อการเงินทั้งระบบ และเท่าที่ดูนักการเงินก็เป็นห่วงเรื่องนี้ และสิ่งสำคัญ ดูได้จากหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้


ตนถึงได้บอกว่า ตรงนี้สำคัญ ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ววิกฤติล้มครืนแบบต้มยำกุ้งจะเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศ เพราะฉะนั้น ตนอยากให้ทุกคนที่ต่อต้านการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย


นายภูมิธรรม ย้ำว่า นักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงิน ระบุว่า ถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้โอกาสจะเกิดต้มยำกุ้งจะตามมา เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องกลับไปดูว่า เป็นจริงหรือไม่ หรือเชื่อหรือไม่ และถ้าหากยังคัดค้านอยู่ ก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้าย ที่คัดค้านไว้ ก็อยากให้รับผิดชอบด้วย

-------------

เมื่อวานนี้ (5 ก.พ. 67)  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่า วานนี้นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมโครงการนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยพูดชัดเจนในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องหาข้อสรุปโดยเร็ว และต้องดูในรายละเอียดข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว สำหรับตนเองมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน จะต้องรีบดำเนินการทันที ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร  ซึ่งหลังเดินทางกลับจากประเทศศรีลังกา นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าจะมีการหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นจึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นหากจะมีการประชุมก็จะไม่ใช่เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ


ส่วนจะต้องรอความเห็นจากทาง ป.ป.ช.ด้วยหรือไม่นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลทราบจากข่าวแต่ยังไม่เห็นหนังสือจาก ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการ จึงไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.เสนอจริงหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการตามที่วางไว้ แต่หากเป็นไปตามหนังสือที่ ป.ป.ช.เสนอแนะ ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อก่อนหน้านี้ และเป็นไปตามนั้น รัฐบาลก็จะพึงสังวร เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะทำผิดไปแล้วมายื่นหนังสือให้หยุดการกระทำ โดยเป็นข้อพึงสังวรและพึงปฏิบัติเท่านั้น


ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนจะต้องมีการทำหนังสือสอบถามไปยัง ป.ป.ช.หรือไม่นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณโดยตรงจาก ป.ป.ช.มายังรัฐบาล  ไม่เช่นนั้นจะมีทุกเรื่องแล้วไปสอบถามทุกหน่วยงาน ก็คงจะมีปัญหา  ในระหว่างที่รอหนังสือดังกล่าวรัฐบาลก็ดำเนินการไป เมื่อมีหนังสือมาจาก ป.ป.ช.ก็จะต้องส่งเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อรัฐบาลดำเนินการไปแล้วแต่หนังสือจาก ป.ป.ช.ยังไม่มา ก็ถือว่ารัฐบาลไม่ได้รับหนังสือ


เมื่อถามว่าสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการเงินดิจิตอล นายภูมิธรรม กล่าวว่าก็จะทำให้เร็วที่สุด ยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้รอช้า เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้หาเสียงไว้ด้วย ซึ่งถือว่าอยู่บนความชอบธรรมและเป็นภาระที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นจะต้องรีบดำเนินการเพียงแต่ว่าเมื่อกำลังจะดำเนินการมีข้อเสนอแนะเข้ามา รัฐบาลจึงได้รับฟังและรวบรวม เมื่อรวบรวมแล้วรัฐบาลก็จะดู แต่ก็ยังคงจะดำเนินการตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งวัตถุประสงค์มีความชัดเจน หากข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ก็รับฟัง แต่ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามที่แถลงอย่างรอบคอบ ก็ตอบได้อย่างนี้

--------------

เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67)  เวลา 14:35 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วจะบอก


เมื่อถามว่าเป็นข่าวดีหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นขั้นตอนในการทำงาน ซึ่งนี้มีหลายท่านเข้ามาพบและหารือกัน ทั้งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบ.สตม.) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตัวแทนบริษัทเดลต้า ตอนนี้ก็เดินหน้าทุกเรื่องไม่ต้องห่วง   ส่วนที่นายจุลพันธ์บอกว่ามีคืบหน้า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ใช่ครับ”


เมื่อถามย้ำว่า จะต้องรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องทำงานคู่ขนานกันไป เดี๋ยวนายจุลพันธ์คงบอกเรื่องการนัดหมายประชุมของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต


เมื่อถามย้ำอีกว่า ต้องถามไปทาง ป.ป.ช.ไปอีกครั้งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถามไปแล้ว ก็คอยอยู่ เดี๋ยวท่านคงมีข้อเสนอแนะออกมา ไม่อยากไปอะไรทั้งสิ้น ต้องทำงานไป เพราะทราบว่าประชาชนคอยอยู่


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงอาการป่วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับว่า อาการดีขึ้นช้าเพราะไม่ค่อยได้พักเท่าไหร่ แต่ก็โอเค ทำงานไหว  ผู้สื่อข่าวจึงขอให้รักษาสุขภาพด้วยซึ่งนายกรัฐมนตรี จึงได้กล่าวขอบคุณ

--------------

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชุมหารือเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า เป็นการรายงานความคืบหน้าตามปกติ


ส่วนกรณีหนังสือ ของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีคำตอบแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวยังไม่ได้ส่งมาถึงรัฐบาล


ขณะที่เรื่องความเร่งด่วน ความจำเป็นที่จะต้องออกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด จากทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ชัดแล้วว่า มีสัญญาณที่ตกต่ำลง แม้ว่าจะมีนโยบายรัฐออกมา อาทิ ลดค่าครองชีพ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงมีความเป็นห่วง และมองว่ากลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นมีความจำเป็น


ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำได้เร็วแค่ไหน แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามทำอย่างเร่งด่วน แต่ก็ต้องรับฟังให้รอบด้าน และดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีความเป็นห่วงมาจากบางหน่วยงาน อาทิ ป.ป.ช.รัฐบาลก็รับฟัง ไปชี้แจง ทำความเข้าใจให้ชัดเจน ส่วนเรื่อง อัตราเงินเฟ้อ ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการลดค่าพลังงานก็จริง แต่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่ต่ำจนน่าเป็นห่วงหมายถึงกำลังซื้อประชาชนหดหาย ประกอบกับหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย ห่วงแต่การใช้หนี้ ภาคเอกชนก็ไม่มีการบริโภค และลงทุน ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2566 ตกต่ำลง


นอกจากนี้ กรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เป็นอำนาจของ กนง.เอง รัฐบาลคงไม่ยุ่ง แต่รัฐบาลยังชัดเจนว่า สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันนั้นเป็นภาระ จึงอยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเชื่อมโยง ดำเนินงานให้มีความเชื่อมโยง และใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น จะห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้สถานะของสถาบันการเงินก็แข็งแกร่ง ดูจากกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาในปีที่ผ่านมา ดังนั้น อยากให้นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังต้องประสานกัน

---------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/qXOZ-bRrRYw

คุณอาจสนใจ

Related News