เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติ เปิดเหตุผลไม่ลดดอกเบี้ย - จ่อหารือ ธ.พาณิชย์ให้มากขึ้น ปมดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก

โดย nattachat_c

16 ม.ค. 2567

176 views

วานนี้ (15 ม.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่ได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผิดพลาด และออกแบบนโยบายที่สามารถรองรับสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงในหลายกรณี


ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปลายเดือนนี้ และประกาศผลต้นเดือนหน้า ซึ่งต้องดูภาพรวม แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นต่อเนื่องตามคาด แต่ที่ผิดคาดไปคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่โตไปตามคาด


โดยยืนยันว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของ กนง. เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก คือ

1. เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน

2. ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน

3. เสถียรภาพเศรษฐกิจ


ส่วนประเด็นที่ว่า ดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น


นายปิติ ยืนยันว่า กนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง  ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุน และมีความเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก


ซึ่งในปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึง เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยว และบริการเป็นหลัก แต่ขาดแรงส่งจากภาคส่งออก และการผลิต


ส่วนในปี 67 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสมดุลมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืด จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที


นายปิติ ระบุด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องประชุม กนง.นัดพิเศษ แต่พร้อมจะดูแลดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย โดยพร้อมเข้าตรวจสอบส่วนต่างดอกเบี้ย และกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลลูกหนี้มากกว่านี้ จากเดิมแค่ขอความร่วมมือ


ส่วนกรณี นายกรัฐมนตรีติงออกสื่อ ก็พร้อมรับฟังทุกภาคส่วน และ กนง.จะนำมาทบทวนในการประชุมครั้งต่อไป แต่ไม่มีการนัดประชุม กนง.นัดพิเศษ


ส่วนกรณีข้อสังเกตที่ว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากมีมาก ส่งผลให้ NIM หรือ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในระบบออกมาสูงมาก ธปท.ก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบ และจะลงไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลลูกหนี้มากกว่านี้ จากเดิมที่เป็นแค่ขอความร่วมมือ


สำหรับระยะถัดไป ต้องดูแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้ และปีหน้า ว่าเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งนโยบายของ ธปท.ไม่ได้กำหนดตายตัว ธปท.จะพิจารณารอบด้าน


ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีต้นทุน และมีความเสี่ยงที่ต้องใช้เครื่องมืออย่างระมัดระวัง ไม่ใช่คำนึงแค่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องการก่อหนี้เกินตัว หากในอนาคตรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด ต้องดูรอบด้าน และดูพัฒนาการปัจจัยต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ต้องดูระยะปานกลาง ระยะข้างหน้า เพราะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านของนโนยายด้วย


สำหรับเศรษฐกิจปี 66 ฟื้นตัวตามคาด แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร และไม่สมดุล ขาดแรงส่งจากภาคส่งออก และภาคการผลิต เพราะไปกระจุกตัวในภาคท่องเที่ยว และภาคบริการ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่พำนักในไทยสั้นลง ใช้จ่ายน้อยลง


ขณะที่ ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการส่งออก ปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว ช่วยจำกัดค่าครองชีพไม่ให้สูงขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อต่ำมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ดังนั้น แม้เงินเฟ้อติดลบ แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเห็นว่าปัจจัยดังกล่าวไม่ยั่งยืน ไม่ได้สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แท้จริง


บวกกับระดับหนี้ที่สูง เป็นจุดเปราะบางสำคัญของเศรษฐกิจไทย หากดอกเบี้ยต่ำไป ประชาชนไปกู้ยืมมาใช้โดยหวังรายได้ในอนาคต ซึ่งหากรายได้ในอนาคตลดลง จะแก้ยาก ธปท.จึงต้องผสมผสานเครื่องมือในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม ไม่เป็นอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจ แต่ก็ต้องไม่สร้างภาระทางการเงินในอนาคต


ที่ผ่านมา ธปท.จึงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย นับว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับโลก

--------------
วานนี้ (15 ม.ค.) น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมเรียกธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีกำไรมาก ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน


ที่ผ่านมา ได้คุยอยู่ตลอดเวลา ต้องคุยมากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากกว่านี้ ต้องทำให้ธนาคารทำมากกว่านี้ เช่น ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้เป็นคนละกลุ่มกับเงินฝาก


ส่วนเรื่องกำไรของธนาคารพาณิชย์นั้น มองว่าเป็นกลไกตลาด โดยที่ผ่านมา การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ธนาคารพาณิชย์ยังมีน้อย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่ปัจจุบัน หลายธนาคารเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น ทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล


โดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 2.95% สูงขึ้นจากช่วงก่อนโควิด แต่ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น ทำให้ ธปท.จะต้องเข้าไปดูถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งดูว่าจะสามารถปรับลดส่วนต่างตรงนี้ได้หรือไม่


ธปท. สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งส่วนนี้ ลูกค้าสามารถเปิดเผยข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ รวมทั้งจะเร่งสร้างการแข่งขันให้มากขึ้น

-------------
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบันถือว่าปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 9 เดือน ของปี 2566 ที่ NIM เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 2.95%  ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อนโควิด


ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า หลังจากมีการตั้งคำถามถึงอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันว่า สูงเกินไปหรือไม่

ส่วนนี้ ธปท.ได้มีการหารือ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากนี้ คงต้องมีการหารือกันมากขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากขึ้น


อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.มีการระมัดระวังในการส่งผ่านค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งผ่านไปสู่ดอกเบี้ยสำหรับรายย่อย (MRR) ที่มีการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านน้อยกว่า ดอกเบี้ยนโบบาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น


โดยหากดูการส่งผ่านดอกเบี้ย MRR พบว่า มีการส่งผ่านเพียง 49% เท่านั้น หรือราว 1% หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับขึ้นถึง 2% ซึ่งการส่งผ่านยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่นอินโดนีเซีย

-------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/zeuuEhHTf-c

คุณอาจสนใจ

Related News