เศรษฐกิจ

จับตา 'เศรษฐา' เชิญ 'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ' หารือ คาดคุยเรื่องเงินดิจิทัล-อัตราดอกเบี้ย-การปรับ GDP

โดย nattachat_c

10 ม.ค. 2567

46 views

เมื่อวานนี้  (9 ม.ค.67) เวลา 11.20 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุม ครม.ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ตนเป็นประธานก่อน โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำลังดูเวลาอยู่


ส่วนที่มีรายงานว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมของตน เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงิน ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน


มื่อถามว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนหรือไม่ ว่าทำได้หรือไม่ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุกๆฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกให้ฟังความเห็นของทุกๆฝ่าย ที่ต้องมีความเห็นของนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ ในความรู้สึกของนายกฯ  นายเศรษฐา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ

      ส่วนกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย เมื่อถามว่าแสดงว่าเรื่องนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกสักระยะ นายกฯ กล่าวว่า ต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนนั่งเป็นประธานก่อน อย่างที่ตนได้เรียนให้ทราบ ยังไงก็ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ เพราะมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ และต้องมาแสดงความคิดเห็น


    ทั้งนี้ นายรัฐมนตรี มั่นใจว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน แต่ต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาที่หลัง  และเวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อนว่าผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกาคือต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆฝ่าย


  เมื่อถามว่าการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทำได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ถ้าออก ก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ


ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้เกิดความหนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย


ส่วนประเด็นความเห็นที่แตกต่างของนายกฯ กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  จะมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่างๆอาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน เมื่อถามว่าจะมีโอกาสเชิญผู้ว่า ธปท. มาพูดคุยกันเหมือนช่วงแรกๆหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ยังยืนยันและขอบคุณที่สื่อมวลชนบอกว่าไหนบอกจะมีการพูดคุยกันทุกๆเดือน  แต่รู้สึกว่าเดือน ธ.ค.ไม่ได้พูดคุยกันแต่ก็มีการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ขอบคุณที่เตือนมา ตนก็ได้นัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดีไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน


“แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับผมบางเรื่อง ผมก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกันและเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่าน ว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกันเป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน”


เมื่อถามถึงกรณีเอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 10 ม.ค.จะมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าฯธปท. ในเวลา 13.30 น. ซึ่งจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่องๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

-------------
วานนี้ (9 ม.ค. 66) ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายสั่งการสถาบันการเงินของรัฐ ดำเนินการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชน โดยที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกนโยบายให้ธนาคารออมสินตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ก่อนจนถึงสิ้นปี 2566 นั้น


ล่าสุด ธนาคารออมสินประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ในระดับต่ำจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยประกาศดอกเบี้ย MRR จากเดิม 6.995% ลดลงเหลือ 6.845% โดยลดลง 0.150% มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงระยะนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดในระบบธนาคาร ณ เวลานี้


ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ใช้สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร การประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MRR ในครั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าช่วยเหลือประชาชนในภาวะที่ต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินมากขึ้นในการดำรงชีพ ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ และสอดคล้องตามภารกิจธนาคารเพื่อสังคม.

----------------












คุณอาจสนใจ

Related News