เศรษฐกิจ

'เศรษฐา-หนุ่มเมืองจันท์-สมาคม SME' รุม 'แบงก์ชาติ' ไม่ควบคุมแบงก์เอกชน-ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ

โดย nattachat_c

8 ม.ค. 2567

81 views

วานนี้ (7 ม.ค. 67) หนุ่มเมืองจันท์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า


”แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน


อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์“


เห็นพาดหัวข่าวของ ”ประชาชาติธุรกิจ“ วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ


ผมไม่รู้ว่า “แบงก์ชาติ” จะรู้สึกตะหงิดอะไรในใจบ้างไหม


1.ถ้าเศรษฐกิจดี  ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้  ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง


2.แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน  เพราะคนผ่อนไม่ไหว


3.คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50%. แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย  


4.ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี  แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอ  แต่หัวใจกลับแข็งแรง พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งแบงก์มา…ยิ่งน่าตกใจ รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร


“การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ NIM ครับ หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ขยับ “ส่วนต่าง” ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อยๆ  แต่ให้กู้แพงๆ ทำกำไรแบบง่ายๆ 


นักวิเคราะห์บอกว่าแบงก์ที่กำไรจาก “ส่วนต่าง” นี้มากที่สุด คือ แบงก์กรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2 % แล้วที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น “เสือนอนกิน” จึงไม่ใช่คำกล่าวหา


5.ประเด็นสำคัญ ก็คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์  คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่รู้สึกว่าผิดปกติบ้างหรือครับ เมื่อ GDP ที่เป็นดัชนีบอกว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าไร 


แบงก์ชาติบอกว่าปี 2566 ประมาณ 2.4% แต่ธุรกิจธนาคารที่คุมระบบการเงินของประเทศเติบโตสูงถึง 18.5% หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงเกือบ 8 เท่าตัว


ความผิดเพี้ยนแบบนี้รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่รู้สึก “เอ๊ะ” อะไรบ้างหรือครับ


“แบงก์ชาติ” นั้นเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง “หัวใจ” มื่อเห็นการทำงานของ “หัวใจ” เต้นผิดปกติแบบนี้ จะไม่คิดทำอะไรบ้างเลยหรือ


หรือเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจประเทศ ที่แบงก์ชาติบอกว่า “กำลังฟื้นตัว”

-------------

ต่อมา กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุช้อความว่า 


ธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ รวมหัวกัน "ทำกำไรสูง" บนความวินาศของลูกค้า... ถือว่าน่ารังเกียจนัก 


และที่น่าตำหนิที่สุด คือ "ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง" ที่ (ไม่) กำกับดูแล

-------------

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ส่งท้ายปี2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ว่า มาตรการสำคัญเร่งด่วน เรื่องหนึ่งคือ มาตรการพักหนี้-ปลดหนี้เอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้น เอสเอ็มอีขอชื่นชมและสนับสนุนมาตรการนี้ แต่มีประเด็นเพิ่มเติม คือ การใช้กลไก บสย. เป็นหลัก ควรออกแบบให้มีกลไก การถอดบทเรียน บ่มเพาะ เอสเอ็มอี ประเมินมีระบบส่งต่อและมีแผนยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอี


ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม เพื่อทำแผนธุรกิจใหม่อย่างง่าย โดยอาจนำ Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เข้ามาช่วยให้ เอสเอ็มอี กลุ่มนี้เข้าถึงพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน มีภูมิคุ้มกันในอนาคต มีกลยุทธ์การตลาดเพิ่มจะทำให้การพักหนี้ได้ประโยชน์ และช่วยส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินในอนาคต ยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลดหนี้เสีย และหนี้นอกระบบ อีกทั้ง การเปิดให้เอสเอ็มอี ลงทะเบียน ควรมีช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างสร้างการรับรู้ และหากมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ต้องได้รับการช่วยเหลืออาจมีการแจ้งโครงการดังกล่าวให้ทราบโดยตรงด้วยจะเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอี อย่างยิ่ง นอกจาก บสย ที่จะช่วย เอสเอ็มอี ได้ 69,000 ราย เบื้องต้นจาก 2 โครงการ ควรเร่งดำเนินการในกลุ่ม Non bank PICO NANO Finance เพิ่มเติม เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง และรายได้ต่ำ ซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นายแสงชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดขณะที่ผู้ประกอบการมีหนี้สินเยอะ หนี้เสียเพิ่ม และหนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง แต่ระบบธนาคารยังมีกำไรหลายแสนล้านบาท ดังนั้น มองว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะลดปัญหาโดยการจัดการอัตราดอกเบี้ยให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด เพราะวันนี้ผู้ประกอบการและคนไทย เจออัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ห่างกัน 7-8% ขณะที่ต่างประเทศช่องว่างเงินกู้กับเงินฝากห่างกัน 3-5% อย่างตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากตอนนี้ไม่ถึง 2.50 บาท แต่ดอกเบี้ยเงินกู้เอสเอ็มอีที่เจอกันก็ไม่ต่ำกว่า 10-15% บางรายถึง 20-23% ก็มี


“ เรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ครั้งหน้า จะหารือกันถึงเรื่องนี้ เพื่้อรวบรวมปัฐหาและข้อเสนอส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการทบทวนวิธีการคิดดอกเบี้ยของธนาคาร และกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยเสนอให้ลดช่องว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก เพื่อลดภาระประชาชนและรายย่อยอย่างแท้จริง พร้อมกับต้้งหน่วยงานตรวจสอบการออกมาตรการของธปท. เราไม่อยากจะคิดว่าการออกมาตรการต่างๆคำว่าเอื้อไปตกที่นายทุนมากกว่าประชาชนทั่วไป เพราะดูจากกำไรธนาคารอู่ฟู่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ประกอบการกับปิดกิจการเพิ่มขึ้นหรือเป็นหนี้สะสมมากขึ้นๆ ” นายแสงชัย กล่าว

----------------
วานนี้ (7 ม.ค.67) เวลา 22.07 น. นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความระบุว่า  


“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อ ประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย


ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับ เงินเฟ้อนะครับ”

---------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/hXTZw4BUq94

คุณอาจสนใจ

Related News