เศรษฐกิจ

การคลังจ่อเสนอ ครม.ลดภาษีสุรา กระตุ้นท่องเที่ยว - ส.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชี้ 3 ปัญหา ปิดผับตี 4

โดย nattachat_c

18 ธ.ค. 2566

201 views

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีผลต่อการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้


โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง คือ การยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้าทุกสนามบิน และ การลดอัตราภาษีเครื่องดื่ม เชื่อว่าจะมีผลให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น และ ทำให้ยอดการใช้จ่ายในประเทศดีขึ้น


ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น หลักคิดคือ ราคาเครื่องดื่มต้องมีความเหมาะสม เพื่อรู้สึกว่า ประเทศไทยมีอาหารดี มีสตรีทฟู้ดดี ในส่วนเครื่องดื่มก็ต้องราคาเหมาะสม สามารถจับต้องได้ โดยเครื่องดื่มที่เราจะเสนอลดอัตราภาษี คือ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯได้พิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราภาษีประเภทไวน์ และสุราชุมชน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้ง และท่องเที่ยว


ถึงแม้ว่ากรมฯจะสูญเสียรายได้จากการปรับลดภาษีดังกล่าว แต่เชื่อว่า ด้วยการใช้จ่ายที่ประเมินว่า จะมีมากขึ้น ก็จะหนุนให้รายได้รัฐในภาพรวมดีขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนสินค้าไวน์นั้น นอกจากจะลดภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังจะได้ลดภาษีนำเข้าควบคู่ไปด้วย โดยในส่วนของอัตรานั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ระหว่างการศึกษา

----------

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวกับ มติชน ถึงกรณีหลังจากรัฐบาลให้ขยายเวลาการปิดของสถานบริการกลางคืน ถึงเวลา 04.00 น. (ตีสี่) ใน 5 จังหวัด กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ที่เริ่มวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ได้รับเสียงสะท้อนจากเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการกลางคืน ว่า


เวลาเปิดปิดของสถานบริการ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และความเป็นจริง ของการประกอบธุรกิจสถานบริการกลางคืน ซึ่งมี 3 ประเด็นหลัก ที่ต้องทบทวน และแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวภาคกลางคืน


โดยผู้ประกอบการอยากให้เร่งดำเนินการ ก่อนเดือนมีนาคม 2567 ที่รัฐบาลกำหนดว่า จะมีการทบทวนผลจากให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการกลางคืนถึงตีสี่

ประเด็นแรก ตามกฎหมายได้อนุญาตสถานบริการให้เปิดถึงตีสี่ได้ เฉพาะสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และสถานบริการตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยสถานบริการตามมาตรา 3 (1) ถึง (5) เท่านั้

แต่โดยข้อเท็จจริงสถานบริการที่ดำเนินธุรกิจกลางคืนที่มีอยู่นี้ ยังรวมถึงสถานประกอบการที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการซึ่งมีจำนวนมากประมาณกว่าร้อยละ 90 ของสถานบันเทิงทั้งหมด และดำเนินธุรกิจเป็นสถานบันเทิงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ รวมถึงกับการขอมีใบอนุญาตขายสุราอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้มีใบอนุญาตเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ กลุ่มนี้ได้รับสิทธิให้เปิดให้บริการได้ถึงตีสี่มีจำนวนไม่มาก ที่จะสามารถสร้างรายได้หรือก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคกลางคืนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล


“ได้สิทธิตามกฎกระทรวง (ฉบับ 3) กับการเปิดถึงตีสี่ จึงมีไม่ถึง 5% ขณะที่สถานประกอบการที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการ แต่ไม่มีใบอนุญาต ยังต้องปิดไม่เกิน 24.00 น.(เที่ยงคืน) แม้รัฐจะบอกว่าให้ผู้ดื่มนั่งได้ถึงตีสี่แต่ขายเหล้าไม่ได้นั้น ในโลกความเป็นจริงจะมีกี่ร้านทำกัน เพราะการเปิดเลยเวลาแต่ขายเหล้าหรือเครื่องดื่มไม่ได้แล้ว กลายเป็นภาระ และต้นทุน ทั้งค่าไฟ ค่าแรงงานพนักงาน เพราะสถานบริการกลางคืน รายได้หลักคืออาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เหลือ 95% อยากให้รัฐบาลขยายเวลาเปิดเป็น 02.00 น.(ตีสอง) พร้อมกับเร่งพิจารณาให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายเป็นสถานบริการตามกฎหมาย อีกทั้ง ลดเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ

------------

ประเด็นที่ 2 คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตโซนนิ่งสถานบริการเดิม มีความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ อาทิ ถนนข้าวสาร ทองหล่อ ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ซึ่งล้วนแต่มีสถานประกอบการที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการตามกฎกระทรวง หรือกฎของกรุงเทพมหานคร


รวมถึงเขตพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการเดิมในแต่ละจังหวัดที่ประกาศกำหนดไว้ก็ใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งด้านภูมิศาสตร์และผังเมือง ที่เกิดชุมชนหมู่บ้าน อาคารพาณิชย์ เข้ามาอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการ


ดังนั้น เครือข่ายผู้ประกอบการฯ ขอให้รัฐบาลหยิบขึ้นเป็นเรื่องด่วนที่ให้ทุกจังหวัดทำการสำรวจและทบทวนโซนนิ่งให้เป็นแหล่งสถานบันเทิงที่เปิดบริการ หรือจำหน่ายได้ตามกฎระเบียบ


อีกทั้ง เสนอผลักดันมาตลอดเกี่ยวกับ Ease of Doing Business ที่เป็นอุปสรรคจากการทำงานของภาครัฐ จึงทำให้ภาครัฐมีการทบทวนเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาใบอนุญาตต่าง ๆ โดยมีการทบทวนยกเลิกเพิกถอน และปรับปรุง ในรูปแบบกิโยติน


“กลุ่มผู้ประกอบการสถานบันเทิงหลายจังหวัด ตื่นตัวกับเรื่องนี้ อยากให้รัฐสำรวจ และยกระดับเป็นโซนนิ่งเพื่อประกอบการสถานบันเทิงได้ถูกต้อง ยึดหลักเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และไม่ใช่แหล่งที่พักอาศัยเป็นหลัก


ที่ได้พูดคุย เช่น พื้นที่แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่ อ.เมือง จ.ลำปาง หรือใน กทม.เอง โซนนิ่งก็มีแค่ 3 จุด ทั้งที่หลายพื้นที่ มีสถานบันเทิงเปิดกันเต็มไปหมด และร้านค้าส่วนใหญ่ก็ค้าขายสินค้าเพื่อธุรกิจสถานบริการ ยังมีประโยชน์ทางอ้อม จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัว และรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมทั้งเกิดวินัยทางอ้อมต่อผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เป็นการสร้างวินัย

------------

ประเด็นที่ 3 คือ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยตามเป้าหมายที่คาดหวัง

ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาทบทวนการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และการสร้างงาน


ทั้งนี้ ประเด็นที่มีกลุ่มสมาคมต่าง ๆ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการร่วมมือการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เคยเสนอเรื่องการทบทวนยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เพื่อผ่อนคลายอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบ เช่น โรงแรม ร้านอาหารภัตตาคาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น ก็ควรได้รับการพิจารณาไปด้วย


อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นพ้องกับการควบคุมการขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี อย่างเข้มข้น และจริงจัง หรือถอดใบอนุญาต หากกระทำผิดกฎหมาย เช่น การปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปสถานบริการ หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ป้องกันเรื่องยาเสพติด และอาวุธ ที่จะแอบลักลอบนำเข้ามาในสถานบริการ สร้างวิธีคิดความร่วมมือสนับสนุนการป้องกันเกิดอุบัติเหตุทางถนนของผู้มาใช้บริการ


“การขยายเวลาเปิดถึงตีสี่ในหลักการเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยเติมกำลังใช้จ่าย และสร้างรายได้กับแรงงานอาชีพกลางคืนให้ฟื้นตัวอีกครั้ง แล้วในระยะยาวจากมาตรการที่เพิ่มเติมจะช่วยจัดระเบียบสถานบริการให้เข้าระบบถูกต้อง


ผู้ประกอบการได้ปรับตัวที่ตระหนักถึงความปลอดภัยผู้บริโภคมาก่อน และประชาชนเคยชินกับความระมัดระวัง เมื่อเมาแล้วจะมีขั้นตอนดูแลตามที่ได้กำหนดไว้


หลายเรื่องที่ยังไม่ตอบโจทย์การเปิดตีสี่ รัฐควรใช้เวลาจากนี้ 2-3 เดือนก่อนทบทวนขยายพื้นที่ให้เพิ่ม ซึ่งกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการสถานบริการกำลังรวบรวมเพื่อนำเสนอหน่วยงานรัฐ และรัฐบาล ในการพิจารณาทบทวนตามข้อเสนอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีต้องการฟื้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจกลางคืน ที่อิงกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

------------

นายธนากรกล่าวถึงบรรยากาศค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ปกติเข้าเทศกาลฉลองปีใหม่ ยอดขายจะดีขึ้นอยู่แล้ว การขยายเวลาแต่ยังกำหนดด้วยจำนวนก็ไม่ได้เพิ่มยอดขายมากนัก เพราะร้านอาหารทั่วไป หรือร้านบันเทิงคล้ายสถานบริการก็ยังขายได้เท่าเดิม

ตอนนี้ที่น่ากังวลคือการระบาดของน้ำกระท่อมในกลุ่มเยาวชน และผู้ใช้แรงงาน จากเดิมนิยมนำเครื่องดื่มชูกำลังผสมเหล้าเบียร์ กลายเป็นนิยมผสมน้ำใบกระท่อมแทน ซึ่งเป็นสูตรที่อันตรายกว่ามาก


ตอนนี้ หาซื้อใบกระท่อมกันง่าย และขายกันเกลื่อนริมถนน สะท้อนได้จากเครื่องดื่มชูกำลังยอดขายตกต่อเนื่อง อยากให้รัฐบาลเร่งเข้าดูแลเรื่องนี้ ดูจากอุบัติเหตุตอนนี้ บางส่วนเกิดจากการเมาน้ำใบกระท่อมมากขึ้น

------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/s2r6OJRqgpQ

คุณอาจสนใจ

Related News