เศรษฐกิจ

กรรมการฝ่ายนายจ้าง สวน 'เศรษฐา' การขึ้นค่าแรง เป็นหน้าที่ไตรภาคี ไม่ใช่หน้าที่นายกฯ

โดย nattachat_c

11 ธ.ค. 2566

96 views

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ที่ประกอบด้วยกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 โดย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 -15.00 น. เบื้องต้นข้อมูลจากที่ประชุมพบว่ามี 5 จังหวัดไม่ได้เสนอขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาแต่อย่างใด หนึ่งในนั้นคือ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม การจากหารือเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุป


นายไพโรจน์ในฐานะกรรมการไตรภาคีได้แถลงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท


ทั้งนี้ จะมีการเสนอผลการประชุมวันนี้ไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธันวาคม และจะมีการเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567

-----------

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดกาญจนบุรี กรณีคณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่าค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน โดยรัฐบาลพยายามทำหลายวิธี ที่จะให้ลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ รัฐบาลพยายามทำอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคน ต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ที่ผ่านมาตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอน ว่าพี่น้องแรงงานคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลพยายามทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือ แต่การขึ้นรายได้ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนากิจการของตัวเอง ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมันและอีกหลายอย่าง ตามมาตรการของรัฐบาล วันนี้จะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทย ต่ำติดดินแบบนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลี และสิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ก็ควรที่จะทำไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำเพียงฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้


ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ เดี๋ยวจะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสมเพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญ ในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา


เมื่อถามย้ำว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้รับการปรับขึ้นมานาน แต่ขณะนี้ปรับเพียงแค่ 2 บาท จะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่องเที่ยว การเปิดด่านสะเดา มีการลงทุนสร้างสะพานไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ถึงอยากใช้เวทีนี้สื่อสารไปถึงและขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งกับไตรภาคีและใน ครม. เพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล


“ต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่า สิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ” นายเศรษฐากล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาอย่างไร นายกฯกล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นว่าจะเสนอเข้ามาหรือไม่


“ถ้าเสนอเข้ามา ผมไม่ยินยอมไม่เห็นด้วยแน่นอน ผมเชื่อว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้” นายเศรษฐากล่าว

----------

(10 ธันวาคม) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายกฯออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) ว่าประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ เราจะต้องหารือกันในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ก่อนว่าจะมีการทบทวนหรือไม่ ทั้งนี้ การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดนั้น จะมีสูตรของการคำนวณอยู่ โดยจุดเริ่มต้น มาจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด เสนอมายังคณะกรรมการวิชาการกลั่นกรอง ก่อนจะมาสรุปตัวเลขสุดท้ายในคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตาม จากกรณีข้อท้วงติง ตนได้มีการปรึกษาหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะนำเสนอมติคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ หรือไม่ รวมถึงจะมีการหารือนอกรอบกับคณะกรรมการไตรภาคีว่า จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าวใช่หรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า ใช่


เมื่อถามต่อว่า ไทม์ไลน์ที่จะนำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสนอในที่ประชุม ครม. เดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ต้องเลื่อนออกไปก่อนหรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ขอให้ทางคณะกรรมการคุยกันก่อน

-------------

ขณะเดียวกัน นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า นายกฯมีสิทธิที่จะวิจารณ์และออกความเห็น ซึ่งผู้ใช้แรงงานเองก็คงจะไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ประกาศออกไปเช่นกัน


“เพราะผู้ใช้แรงงานเองก็มีความคาดหวังตามสิ่งที่พรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้ ทำให้ทุกคนตั้งธงตรงนั้นหมด ผมจึงอยากตั้งคำถามกลับว่า หากจะมีการปรับให้ถึงวันละ 400 บาทในตอนนี้ ทำได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างโดยอิสระ ซึ่งตรงนี้ควรปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงจากภาคส่วนอื่น โดยเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อตอนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน” นายวีรสุขกล่าว


เมื่อถามว่า หากจะต้องมีการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ นายวีรสุขกล่าวว่า ถ้าจะพิจารณาใหม่จะต้องมีเหตุผล รวมถึงจะต้องไปดูกฎหมายว่า กรณีที่คณะกรรมการลงมติไปแล้ว


“แต่จะมีการโล๊ะมติใหม่สามารถทำได้หรือไม่ แล้วถ้าหากทำได้ ต้องถามต่อว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ทบทวน เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้อำนาจไตรภาคีในการพิจารณา แล้วไตรภาคีเองก็มีมติไปแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะต้องนำมติดังกล่าวไปเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติปรับเปลี่ยนได้ หากเข้า ครม.แล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งต้องตอบคำถามว่า การที่ ครม.ให้นำกลับมาทบ ทวนใหม่นั้น ครม.มีอำนาจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผมคงตอบไม่ได้ ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายว่าทำได้มากน้อยอย่างไร” นายวีรสุขกล่าว


นายวีรสุขกล่าวอีกว่า หากคณะกรรมการแต่ละฝ่ายมีคุณธรรม มีจริยธรรม พอที่จะรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็ต้องเจอกันครึ่งทาง ส่วนจะทำให้ได้อย่างนโยบายของพรรคการเมืองว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้ 400 บาทต่อวันนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ต้องย้ำว่าคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นค่าจ้างแรกเข้าของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเรายังมีค่าจ้างมาตรฐานตามฝีมือแรงงานอีกเป็นร้อยสาขาอาชีพ


“สิ่งสำคัญที่ฝ่ายลูกจ้างอยากสื่อสารให้สังคมรับรู้คือ ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เราประกาศออกไปนั้น จะมีแรงงานไทยแท้ๆ กี่เปอร์เซ็นต์ แรงงานเพื่อนบ้านอีกเปอร์เซ็นต์ ข้อมูลคร่าวๆ คือ แรงงานไทยเฉลี่ยที่ 5 แสนคน แต่อีก 5 ล้านกว่าคน เป็นแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ ขณะที่มูลค่าสินค้าต่างๆ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แล้วคนไทยกว่า 70 ล้านคน จะต้องมารับภาระตรงนี้ ทางที่ดีหากนายกฯจะพูดเรื่องค่าแรง ควรจะเอาเวลาไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาสินค้า ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพลดลง เพื่อให้ประชากรที่มีรายได้เท่านี้อยู่ได้ และผู้ประกอบการก็สามารถดำรงกิจการต่อไป” นายวีรสุขกล่าว


นายวีรสุขกล่าวว่า สำหรับแรงงานที่มองว่าอยากได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 400 บาท ควรต้องนึกต่อไปว่า หากค่าแรงเพิ่มขึ้นขนาดนั้น นายจ้างจะอยู่อย่างไร ก็จะเป็นปัญหามาสู่การเลิกจ้าง คนว่างงาน ส่วนเงินค่าแรง 400 บาท ที่ได้มา ก็จะต้องมาจ่ายในค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามมา ดังนั้น อยากให้นึกถึงเรื่องเหล่านี้มากๆ

--------------

ด้าน นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายกฯที่ออกมาทักท้วงเรื่องนี้ เพราะผลการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการไตรภาคีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันนี้รัฐบาลพยายามซัพพอร์ตกลุ่มนายทุนในทุกๆ ด้าน


“แต่ขณะเดียวกัน กลับกดค่าจ้างของลูกจ้าง เลยทำให้เกิดความไม่สมดุล ไม่ยุติธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งควรจะได้ค่าแรงสูงกว่านี้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกๆ พื้นที่ ทั้งนี้ การที่นายกฯออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซง เพราะขนาดกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สำรวจและพิจารณาตัวเลขก่อนเสนอเข้ามา ถามว่ามีสัดส่วนของลูกจ้าง เข้าร่วมอยู่มากน้อยแค่ไหน” นายชาลีกล่าว และว่า สำหรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คิดว่าควรจะเป็นนั้น คิดว่าควรทำตามที่รัฐบาลพูดเอาไว้ก็ได้คือ 400 บาททั้งประเทศ ซึ่งพอกล่อมแกล้มไปได้ ดีกว่าเพิ่มเพียง 12 บาท ซึ่งการเพิ่มเป็น 400 บาทนี้ ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดด ในอดีตเราก็มีประสบการณ์ จากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้นได้เพราะเกิดการจ้างงานมีรายได้ ตัวเลขจีดีพี (GDP) ภายในจังหวัดดีขึ้น แต่ตอนนี้ GDP ระดับจังหวัดดีแค่ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดให้มีค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ นี่เป็นหลักการ ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้ได้ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

-----------

วันที่ 9 ธ.ค. 66 นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง และประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไปสวนทางกับนโยบายรัฐบาลและให้กลับไปทบทวนใหม่ ว่า ที่ผ่านมาเรื่องให้กลับไปทบทวนใหม่ไม่เคยมีมาก่อน มติของบอร์ดค่าจ้างเป็นการเสนอเพื่อทราบจึงต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี 15 คน ที่มาจากตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง 5 คน นายจ้าง 5 คน และภาครัฐ 5 คน มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะเสนอตัวเลขเข้ามา มีอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งก่อนเสนอเข้าบอร์ดชุดใหญ่พิจารณา การปรับค่าจ้างมีสูตรการคำนวณ โดย ไม่ใช่คิดจะปรับเท่าไรก็ได้


นายอรรถยุทธกล่าวต่อไปว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างต้องพิจารณาความจำเป็นของลูกจ้างมีมากแค่ไหนจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ดัชนีค่าครองชีพ และตัวเลขเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ต้องดูความพร้อมของนายจ้างแต่ละรายธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างไร ต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การประชุมปรับค่าจ้างทุกจังหวัดมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ไม่ได้ขอปรับขึ้นแต่บอร์ดก็ให้ปรับขึ้น 2 บาท ซึ่งมีเพียง 3 จังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นส่วนใหญ่จะปรับที่ 8-10 บาท เมื่อลูกจ้างรับได้ก็แสดงว่าเขาต้องอยู่ได้


นายอรรถยุทธ กล่าวด้วยว่า นายกฯ อาจจะคิดเร็วและพูดเร็วเกินไป ไม่ได้ดูเนื้อในว่าการปรับค่าจ้างมีองค์ประกอบเป็นอย่างไร มีหลักการและสูตรการคำนวณ ไม่ใช่จะเอาเท่าไรก็ได้ ต้องให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ ที่บอกว่าจังหวัดใหญ่ควรให้ขึ้น 400 บาท มันทำไม่ได้เพราะผิดหลักเกณฑ์ ถ้าปรับสูงมากนายจ้างปิดโรงงานสินค้าขึ้นราคาลูกจ้างจะทำอย่างไร ถ้าค่าจ้างพุ่งสูงมาก 400-600 โรงงานต่างชาติย้ายฐานการผลิตแน่ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่วาทกรรม เพราะหากมีแนวคิดแบบนี้เขาจะยิ่งไปเร็วขึ้น


“การปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี ถ้าเคาะแล้วไม่เห็นด้วยตามมติ ก็ไปยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 แล้วไปแก้ให้การปรับค่าจ้างอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีไปเลย กลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์อีกครั้ง เรื่องค่าจ้าง 400-600 เป็นวาทกรรมทางการเมือง เป็นการหาเสียง ทั้งที่รู้อยู่ว่าทำไม่ได้ ถ้าจะให้ทบทวนปรับค่าจ้างก็อยู่ที่ปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นประธานบอร์ดค่าจ้างจะนำกลับมาพิจารณาหรือไม่ เพราะมีมติไปแล้ว และเรื่องนี้ไม่ควรมีการเมืองแทรก” นายอรรถยุทธ กล่าว

-----------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/rzOyTexk9k0


คุณอาจสนใจ

Related News