เศรษฐกิจ

'โฆษกรัฐบาล' ฉะ 'ธปท.' หลังค้านแจกชาวนาไร่ละ 1 พัน ซัด รบ.ก่อนแจกมากกว่า ทำไมไม่ค้าน

โดย nattachat_c

22 พ.ย. 2566

53 views

วานนี้ (21 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือให้ความเห็น กลับมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าไม่จำเป็นต้องออกมาตรการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ว่า


เข้าใจว่า เป็นหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามความเห็นไปยัง ธปท. เกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ย. 66 มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการแทรกแซง โดยการซื้อราคานำ และ วันที่ 14 พ.ย. มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการให้เงินไร่ละ 1,000 บาท



ซึ่งหนังสือเปิดผนึกที่ ธปท. ให้ความเห็นมาว่า เนื่องจากราคาข้าวเปลือกในปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ธปท.จึงเห็นว่า การให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท อาจไม่จำเป็นแล้ว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้


ขอชี้แจงว่า หนังสือที่ ธปท.บอกว่า ความจำเป็นน้อยลงแล้ว ความหมายนัยคือ เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว ฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2565 ในส่วนราคาข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว รัฐบาลที่แล้วใช้เงินอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งหมดเกือบ 1.5 แสนล้านบาท


ในจำนวนดังกล่าว มีอยู่กว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อประกันราคาข้าวเปลือก ซึ่งปีที่แล้วราคาไม่ดีเท่าไหร่


โดยรัฐบาลที่แล้ว ใช้การประกันราคา ซึ่งถ้าราคาต่ำให้มารับส่วนต่างจากรัฐบาล


อีกทั้ง ยังมีการให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพข้าว เช่นเดียวกับรัฐบาลนี้


ส่วนที่ ธปท.ระบุความจำเป็นน้อย เพราะปีนี้ข้าวราคาดีนั้น เงินที่ชาวนาได้จากการขายข้าวเปลือกในปีนี้ แม้จะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้ว ชาวนาได้เงินอุดหนุนที่มาจากการประกันราคาข้าว ซึ่งเมื่อบวกเงินอุดหนุนจากการประกันราคาแล้ว เงินที่ชาวนาขายข้าวได้ ฤดูกาลผลิตปีที่แล้วกับฤดูกาลปีนี้พอ ๆ กัน แทบไม่ต่างกันเลย


ขณะเดียวกันสิ่งที่แย่กว่าปีที่แล้วคือ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. จนถึงต้นเดือน พ.ย. ที่รัฐบาลได้มีมติ ครม. 2 มาตรการออกมาช่วยเหลือชาวนา เป็นช่วงเวลาที่ข้าวเปลือกหอมมะลิกำลังจะออกตลาด และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแม้จะมีการประกาศราคาพอ ๆ กับปีที่แล้ว ตันละ 14,500-15,000 บาท


แต่เวลารับซื้อจริง ราคาตันละ 14,500-15,000 บาท คือความชื้นที่ 15% แต่ในภาคปฏิบัติ เวลาเก็บข้าวมาแล้ว ความชื้นคือ 25% เวลาส่งไปขาย เขารับซื้อแค่ตันละ 10,800 บาท ทำให้ชาวนาขายได้น้อยลงกว่าเดิม และไม่มีเงินประกัน รอบนี้รัฐบาลจึงไม่จ่ายเงินประกันให้ เพราะราคาข้าวเปลือกอย่างอื่นดี เพียงแค่อุดหนุนในเรื่องของการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพข้าวเท่า ๆ กับปีที่แล้ว คือ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่าปีที่แล้วเกินกว่าครึ่ง 


นอกจากนี้ เรื่องต้นทุนการผลิตที่ ธปท.ระบุว่า ไม่น่าจำเป็นเพราะต้นทุนต่ำนั้น ข้อเท็จจริงไม่ใช่ เพราะปุ๋ยที่ราคาลงมีตัวเดียว แต่อีก 3 ตัวแพงกว่าปีที่แล้ว


ดังนั้น หนังสือแสดงความเห็นของ ธปท.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  


จึงขอเรียนว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับเกษตรกร เกี่ยวกับชาวนา ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรง จะมีความละเอียดลึกซึ้งกว่าข้อมูลของ ธปท. เพราะ ธปท.จะดูรายงานกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะลึก

"ข้อเท็จจริงไม่ใช่ตามที่ ธปท.ชี้ ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผมแปลกใจมากๆ คือ เมื่อปีที่แล้วรัฐอุดหนุนช่วยชาวนาใช้เงินเกือบ 1.5 แสนล้านบาท และชาวนาได้เงินพอ ๆ กับปีนี้ และก็มีโครงการให้ไร่ละ 1 พันบาท เหมือนกับปีนี้ แต่ปีที่แล้ว ธปท.ไม่มีความเห็น ไม่ได้มีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้งว่าไม่ควรทำ แถมเป็นข่าวด้วย


อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นนโยบายทางการคลัง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา


ส่วนความเห็นของ ธปท. เราพร้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่แบ่งกันทำ ธปท.ดูแลด้านการเงิน ถ้าจะมีหนังสือท้วงติงหรือแสดงความเห็น เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ควรคิดควรจะเป็นเท่าไหร่ // ระยะเวลาคืนเงินต้นควรจะเป็นเท่าไหร่ // หลักประกันเรื่องความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้ชาวนาควรจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของ ธปท.


แต่โครงการควรจะช่วยชาวนาหรือไม่ ช่วยในหลักเกณฑ์เท่าไหร่ อย่างไร ต้นทุนแพงขึ้นหรือถูกลง ราคาข้าวเปลือกเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีรายละเอียดอยู่ในมือ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นเรื่องอื่น นอกเหนือจากประเด็นทางการเงิน ขอให้หน่วยงานของภาครัฐที่มีความข้อมูลลึกซึ้งแม่นยำกว่า เป็นผู้พิจารณา และตัดสินใจ น่าจะดีกว่า

-------------




รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Q7lSC8qusws

คุณอาจสนใจ

Related News