เศรษฐกิจ

‘เศรษฐา’ รับตกใจตัวเลข ศก.ย้ำดิจิทัลวอลเล็ตจำเป็น - ‘ศิริกัญญา’ ถาม GDP ไตรมาส 3 โต 1.5% วิกฤตหรือยัง?

โดย petchpawee_k

21 พ.ย. 2566

60 views

นายกฯ เผย เลขาสภาฯพัฒน์ -ผอ.สำนักงบประมาณ เข้าพบรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 โตแค่ร้อยละ 1.5 ไม่ถึงร้อยละ 2 ยอมรับตกใจ เลวร้ายกว่าที่คิด เร่งแก้ ย้ำจุดยืนชัดเจนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีวิกฤติและจำเป็น  ลั่น เป็นผู้นำเสียกำลังใจ-สมาธิไม่ได้ หลังมีเสียงวิจารณ์กู้เงินมาแจก  


วานนี้ (20 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เดินทางมายังกระทรวงการคลัง เพื่อมาติดตามงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะ การแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่เตรียมแถลงช่วงปลายเดือนนี้ รวมถึงมีกลุ่มไหนบ้างที่ขาดการดูแล ต้องมีการพูดกัน และยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องแหล่งเงินกู้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตนเองและกระทรวงมหาดไทย จะเข้าไปดำเนินการ โดยได้มอบหมาย นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีเข้าใจและตระหนักดีถึงปัญหานี้ ตนเองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และมีการวางแผนว่า จะมีการแถลงร่วมกันกับการบริหารหนี้ทั้งหมด หรือจะแยกไปแถลง


 ส่วนการเรียก นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าพบนั้น ได้มีการรายงาน ตัวเลขทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าทุกคนได้รับทราบรายงานไปแล้ว ยอมรับว่าตนเองเป็นห่วงกับรายงานภาวะเศรษฐกิจที่ในไตรมาส 3 จีดีพีขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2 ซึ่งตัวเลขที่รายงานเกิดมาจากปัจจัยหลายอย่าง


ทั้งเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน และโรงงานที่มีการผลิตไม่เต็มกำลัง จึงทำให้จีดีพีเลวร้ายกว่าที่คิดไว้ ซึ่งทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ ซึ่งจะส่งผลต่อทุกอย่างในไตรมาสนี้และต่อไป แต่รัฐบาลพยายามจะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นตัวหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ และขณะนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจก็บ่งบอกชัดเจนแล้ว ดังนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจงความจำเป็นในโครงการนี้ แต่สำหรับตนเองยืนยันชัดเจนแล้วว่ามีวิกฤติและจำเป็น


นอกจากนี้นายเศรษฐายังให้สัมภาษณ์ ถึงผลสำรวจนิด้าโพลว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินมาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า เท่าที่ดูคร่าวๆ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น เพราะคนที่เห็นด้วยก็มี ถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็น และเรื่องก็อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อีกทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจก็สะท้อนออกมาว่า GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 1.5% คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียต่ำสุด 3.3% บางประเทศมากกว่าเรา 2-3 เท่า เป็นเรื่องของการตีความว่าวิกฤติจำเป็นหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลนี้ย้ำว่าวิกฤติและจำเป็น


ส่วนหลังแถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไปแล้วตอนนี้ได้มีการรวบรวมเสียงสะท้อนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนรวบรวมข้อมูลต่อ แม้จะแถลงไปแล้วก็ต้องทำงานต่อ ก็รับฟังเพราะยังมีรายละเอียดเล็กน้อย


เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงหรือไม่ว่ากว่า พ.ร.บ.เงินกู้จะออก จะทำใหเเสียสมาธิในการเดินหน้าทำโครงการ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตำแหน่งผู้นำประเทศ เป็นตำแหน่งที่อยู่ในความรับผิดชอบที่สูง มีหลายภาคส่วนที่ต้องดูแลแก้ปัญหา เสียสมาธิเสียกำลังใจคงไม่มี ไม่มีสิทธิ์ที่จะเสียสมาธิ คงมีข้ออ้างไม่ได้ที่จะไม่ทำงาน ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่เสียกำลังใจ ไม่เสียสมาธิ


ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าเห็นตัวเลข GDP 1.5% แล้วตกใจ จะมีเทคนิคทางเศรษฐกิจอย่างไรระหว่างรอโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดิจิทัล วอลเล็ต เป็นนโยบายใหญ่นโยบายหนึ่งเช่นเดียวกับนโยบายการท่องเที่ยว รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ ซึ่งบางอย่างทำได้ทันที และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ จะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไร นายกฯ ย้ำว่า เรายังทำงานอย่างเต็มที่ ภาคส่วนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือ เราก็เข้าใจความลำบากของประชาชน การประชุม ครม. ทุกนัด ก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา พยายามอยู่ ตนตกใจ และเลขาสภาพัฒน์ฯ ก็ตกใจ เพราะตัวเลข GDP น้อยกว่าที่คาด หายไป 0.5% ถือว่าสูงมาก เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเร่งด่วนจำเป็น

------------------------------------

ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า  "GDP ไตรมาส 3 โต 1.5% วิกฤตรึยัง?


คงต้องย้ำอีกครั้งว่า เราจะไม่ต้องมาเถียงเรื่อง "วิกฤต" หรือ "ไม่วิกฤต" กันเลย ถ้ารัฐบาลไม่เลือกใช้วิธีการ "ออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท" เพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะการที่จะออก พ.ร.บ. เงินกู้ได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้โดยชัดเจนว่า ตอนนี้มี "ความจำเป็น เร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤตอย่างต่อเนื่อง และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน" จริงหรือไม่


ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด  ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย "วิกฤต" รึยัง ?


วันนี้มีตัวเลขออกมาจากสภาพัฒน์ฯ ว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวเลข GDP นั้น วัดได้จากทั้งฝั่งรายจ่าย (expenditure) และฝั่งการผลิต (production) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน


ฝั่งการผลิตอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -4% เลยดึงใน GDP ของไทยโตต่ำ ที่ติดลบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรม "เพื่อการส่งออก" โดยเฉพาะ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก ในด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8%


ส่วนฝั่งรายจ่ายที่เราคุ้นเคย คำนวณได้ตามสูตร C+I+G+X-M (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) จากตัวเลขวันนี้ เราจะเห็นว่าตัวเลขภาคเอกชนโตขึ้นถึง "8.1%" การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่ stock สินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค -4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (จากการที่ปีก่อนมีการเบิกค่ารักษาโควิด แต่ปีนี้ไม่มี จึงหดตัว) การลงทุนภาครัฐก็หดตัว -2.6% และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าก็หดตัวแรงที่ -10.2%


สรุปก็คือ ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ "วิกฤตเศรษฐกิจ" อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว (ซึ่งก็แปลกดี เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศไหนอยากจะให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ หรือมีท่าทีดีใจที่เห็น GDP โตต่ำ)


คำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า 8%



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/CeXpVtpQDps

คุณอาจสนใจ

Related News