เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤต สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 3 ขยายตัว 1.5% แต่เศรษฐกิจภายในไทยยังเติบโตได้ดี

โดย paranee_s

20 พ.ย. 2566

160 views

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปีนี้ ขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 จากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่แล้ว โดยรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 1.9


โดยปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 2.0 แม้จะเป็นการติดลบลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังมีผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 4 ต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคของรัฐบาลลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.9 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5


ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังต้องจับตาการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร และ ความเสี่ยงของการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก


ส่วนปัจจัยบวกมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 8.1 สูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการผลิตสาขาที่พักแรกและบริการอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูง14.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยประมาณ 7.1 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าบริการท่องเที่ยว ไตรมาสนี้อยู่ที 2.48 แสนล้านบาท เพื่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 หรือร้อยละ 76.8 ส่วนนักท่องเที่ยวจีน คาดว่าปีนี้จะเดินทางเข้าไทยอยู่ที่ 3 ล้านคน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน ส่วนปีหน้าคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้าไทยมากขึ้นที่ประมาณ 7 ล้านคน


ขณะที่แนวโน้มทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 65 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของจีดีพี


ส่วนแนวโน้มปีหน้า (2567) คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 (ในกรอบร้อยละ 2.7-3.7) โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออก ,การอุปโภคบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี , การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 เงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 1.7-2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของจีดีพี ทั้งนี้การคาดการณ์จีดีพี ปี 67 ยังไม่ได้รวมปัจจัยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลไว้ เนื่องจากรอดูความชัดเจนของโครงการดังกล่าวอีกครั้ง


เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำได้หลายมาตรการ เช่น การเร่งเพิ่มตัวเลขการส่งออก ทำให้เกิดการลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ควรจะขยายการลงทุนให้มากขึ้น ส่วนจะจำเป็นต้องใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องรอการวินิจฉัยของกฤษฎีกาอีกครั้ง ส่วนการจะใช้เงินกู้หรือไม่ก็ คงต้องดูอีกที แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว คงต้องเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น


สำหรับข้อเสนอของสภาพัฒน์ต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2567 เน้นย้ำให้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป การเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก การเร่งขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้กลับมาขยายตัวได้ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร และ การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ


อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบ จีดีพี ไตรมาส 3 ของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า หลายประเทศมีจีดีพี ไตรมาส 3 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เช่น สิงคโปร์ จากร้อยละ 0.5 ในไตรมาส 2 เป็นร้อยละ 0.7 ในไตรมาส 3 , มาเลเซีย จากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 3.3 , ฟิลิปปินส์ จากร้อยละ 4.3 เป็นร้อยละ 5.9 , เวียดนาม จากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 5.3 มีเพียง อินโดนีเซีย ที่จีดีพี ขยายตัวลดลง จากร้อยละ 5.2 เหลือขยายตัวร้อยละ 4.9 และ ไทย ที่ขยายตัวลดลง จากร้อยละ 1.8 เหลือร้อยละ 1.5 ในไตรมาส 3


ส่วนคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอด โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด และผลกระทบจากสงคราม ซึ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือ การท่องเที่ยว ซึ่งโดยรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องและมีความจำเป็นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่ 3%กว่าไปแบบนี้ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5%

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ